การส่งออกเงาะสดไปจำหน่ายต่างประเทศ มีไม่ถึง 5% ของผลผลิตทั้งหมด เนื่องจากมีปัญหาการเกิดสีน้ำตาลของเปลือกและขนเงาะ รวมทั้งผลเน่าอย่างรวดเร็ว
กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้ศึกษาวิจัยหาทางแก้ปัญหาพบว่า ผลเงาะแห้งเหี่ยวเร็วเพราะมีการสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็ว เนื่องจากบริเวณขนเงาะมีปากใบจำนวนมาก ทำให้มีการคายน้ำมาก ส่งผลให้เปลือกเงาะเปลี่ยนแปลงเป็นสีน้ำตาลและเหี่ยวแห้ง ส่วนสาเหตุที่ทำให้เงาะเน่าอย่างรวดเร็ว มาจากการเข้าทำลายของเชื้อรา
ผลงานวิจัยพบว่า ระยะการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม เป็นระยะสามสีที่เปลือกยังเป็นสีแดงอ่อนและขนเงาะ ยังเป็นสีเขียว จะสามารถเก็บผลเงาะได้นานขึ้น การตัดขั้วผลเงาะให้ชิดผลด้วยกรรไกร แทนการปลิดด้วยมือ สามารถลดการเข้าทำลายของเชื้อราซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคผลเน่าหลังการเก็บเกี่ยว
การล้างผลเงาะด้วยน้ำสะอาดและแช่ในชีวภัณฑ์แบคทีเรีย Bacillus amyloliquefaciens DL9 อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร นาน 5 นาที สามารถลดการเกิดโรคผลเน่าของเงาะในระหว่างการเก็บรักษาได้และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
...
ส่วนการยืดอายุผลให้มีความสดใหม่ ให้ใช้วิธีบรรจุผลเงาะในถุงพลาสติกชนิด LDPE ความหนา 25 ไมครอน ที่มีอัตราการซึมผ่านของออกซิเจน 10,000-12,000 ลบ.ซม./ตร.ม./วัน จะช่วยลดการคายน้ำของผลเงาะและลดอาการเปลือกสีน้ำตาลของเปลือกและขนเงาะได้ดี ทำให้สามารถเก็บรักษาผลเงาะให้มีความสดใหม่ได้นานขึ้น โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษาหรือขนส่งเงาะคืออุณหภูมิ 13℃ ความชื้นสัมพัทธ์ 90-95%
วิธีการนี้จะทำให้ผลเงาะคงสภาพอยู่ได้นานถึง 14 วัน จากเดิมที่จะเหี่ยวแห้งภายใน 3-4 วัน
กรมวิชาการเกษตรพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกร ผู้ประกอบการส่งออก และผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-2579-5582 และ 0-2579-6008.