คนไทยเริ่มผ่อนคลาย “ล็อกดาวน์” ด้วยมาตรการ “ผ่อนปรน” การคุมเข้มจำกัดการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ให้กิจการบางประเภทกลับมาเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคมเป็นวันแรก...

ในกิจการและกิจกรรมที่มีการผ่อนคลาย 6 ประเภทคือ ประเภทหนึ่ง ...“ตลาด”...ตลาดนัด ตลาดสด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน และแผงลอย

ประเภทสอง...“ร้านจำหน่ายอาหาร” ร้านจำหน่ายอาหารไม่เกิน 2 คูหา ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศกรีม ที่อยู่นอกห้างฯ ร้านอาหารริมทาง รถเข็น และหาบเร่

ประเภทสาม...“กิจการค้าปลีกค้าส่ง” ซุปเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าปลีก ประเภทสี่...“กีฬาสันทนาการ” กิจกรรมสวนสาธารณะ สนามกีฬา ลานกีฬา เฉพาะกิจกรรมในพื้นที่โล่งแจ้ง ประเภทห้า...“ร้านตัดผม” ร้านเสริมสวย เฉพาะตัด สระ ไดร์ ประเภทหกอื่นๆ ร้านตัดขนสัตว์ ร้านรับเลี้ยงสัตว์

...

การผ่อนปรนนี้เพื่อให้ “ชีวิตและการทำมาหากินสะดวก” แต่ยังคงมาตรการพื้นฐานเข้มข้นเช่นเดิม ทั้งเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ตรวจวัดอุณหภูมิผู้ใช้บริการ การทำความสะอาดพื้นที่สม่ำเสมอ มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ซึ่งให้ผู้ว่าฯแต่ละจังหวัดพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติมจากนี้ได้...

ทว่า บรรยากาศการผ่อนคลายยกแรกนี้ “ทีมสกู๊ปหน้า 1” ออกสำรวจกิจการและกิจกรรมรับผ่อนปรน เริ่มจากสวนสาธารณะ เขตกรุงเทพฯ อาทิ สวนลุมพินี สวนเบญจสิริ มีประชาชนสวมหน้ากากอนามัยมาออกกำลังกาย วิ่ง เดิน จำนวนมาก และมีเจ้าหน้าที่คอยทำการคัดกรองอุณหภูมิ มีมาตรการเว้นระยะห่างอย่างเข้มงวด

ด้าน “ร้านตัดผม”...ในพื้นที่เขตพระนคร กทม. ต่างทำความสะอาดร้านด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ จัดเครื่องวัดอุณหภูมิ เจลล้างมือให้บริการ และลูกค้าต้องสวมหน้ากาก ส่วนใหญ่ก็มีระบบนัดคิวล่วงหน้า ไม่มีนั่งรอคิวภายในร้าน

“ประเภทตลาด” ยกตัวอย่าง...ตลาดนัดเลียบด่วนรามอินทรา ก็มีการคัดกรองบุคคลตรวจวัดไข้ เจลล้างมือ และให้ทุกคนสวมใส่หน้ากากตาม มาตรการป้องกันเช่นกัน ในส่วนประเภทร้านอาหาร...แต่ละร้านได้จัดเตรียมสถานที่รองรับลูกค้า ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มข้น เน้นซื้อกลับบ้าน...

ทั้งยังมีการจัดให้มีจุดล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล จัดให้มีที่ระบายอากาศ จัดจุดรอคิวรับอาหารแยกจากส่วนนั่งรับประทาน เว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 เมตร จัดระยะห่างระหว่างโต๊ะ และระหว่างที่นั่ง รวมถึงทางเดินอย่างน้อย 1 เมตร โดยจัดให้ไม่นั่งตรงข้ามกัน เว้นระยะห่างของจุดชำระเงิน เป็นต้น

ในการผ่อนคลายมาตรการให้กิจการบางประเภทกลับมาเปิดได้ในยกแรกนี้ “ไม่ใช่เปิดเสรีตามใจชอบ” แต่ยังต้องปฏิบัติตามคำแนะนำตามข้อกำหนดที่กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคง...

ทำหน้าที่ไปตรวจให้เป็นไปตามหลักการใหญ่ของการผ่อนคลาย หากตรวจแล้วพบว่า...สถานประกอบการไม่ปฏิบัติตาม จะมีการ “ตักเตือน” ถ้าไม่ทำอีก “ก็ต้องถูกสั่งปิด” เพื่อความรับผิดชอบต่อคนในภาพรวม เพื่อให้ทุกคนที่ไปใช้บริการเกิดความมั่นใจปลอดภัย

...

ก่อนหน้านี้...ในวันที่ 5 พ.ค. “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ก็รายงานการตรวจสถานบริการ หรือจัดกิจกรรม ทั้งร้านอาหารและเครื่องดื่ม ศูนย์การค้า ร้านค้าปลีกค้าส่งขนาดย่อม ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย สนามกอล์ฟ สนามซ้อม สนามกีฬา สวนสาธารณะ ร้านดูแลรักษาสัตว์ 9,400 แห่งทั่วประเทศ พบว่า...

ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด เพื่อป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวนกว่า 350 แห่ง ตักเตือนให้คำแนะนำกว่า 2,600 แห่ง

ซ้ำร้าย...หากผู้ประกอบการ ร้านค้า สถานบริการ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด ใช้วิธีว่ากล่าวตักเตือนให้การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายกำหนด เช่น การรักษาความสะอาด การเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ตรวจวัดอุณหภูมิ หากยัง “ฝ่าฝืน” จะเสนอผู้มีอำนาจ “สั่งปิดสถานที่ที่ฝ่าฝืน” นั้นด้วย

ส่วนภาพรวมการดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงเวลาเคอร์ฟิวเวลา 22.00 น. วันที่ 4 พ.ค. ถึงเวลา 04.00 น. วันที่ 5 พ.ค. มีผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน รวมกลุ่ม ชุมนุม และมั่วสุมในเคหสถาน กว่า 678 ราย

...

แนวทางการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรน เพื่อป้องกันการระบาดโรคนี้ นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลว่า ในระยะมาตรการผ่อนปรนตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.เป็นต้นไป ยังคงมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ทั้งจากผู้รับบริการและผู้ให้บริการอย่างเข้มข้นเช่นเดิม

ประชาชน ผู้ใช้บริการ ก็ต้องร่วมมือรักษาความสะอาด ล้างมือ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ส่วนผู้ประกอบการต้องทำหน้าที่เสมือน “ด่านหน้า” ในการสกัดการแพร่เชื้อโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นใจในการรักษามาตรการผ่อนปรนให้ประเภทกิจการและกิจกรรมถูกสุขลักษณะมากที่สุด

ประเด็น...“การผ่อนปรนกิจการและกิจกรรม เพื่อป้องกันการแพร่ ระบาดของโรคโควิด-19” มีหลักเกณฑ์ยึดการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ “การเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ป้องกันโรค” ให้มีจุดบริการล้างมือ หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ให้บริการทุกวันอย่างเพียงพอ

สถานที่จัดให้มีการระบายอากาศเพียงพอ กรณีร้านค้าติดเครื่องปรับอากาศ อาจพิจารณาให้มีช่องทางระบายอากาศ หรือใช้พัดลมระบายอากาศ เพื่อการหมุนเวียนอากาศเพียงพอ เว้นแต่งดการใช้เครื่องปรับอากาศ

ก่อนเปิดให้บริการต้องตรวจคัดกรองอาการป่วย ทั้งพนักงานและผู้ใช้ บริการ ส่วนมาตรการป้องกันโรค ให้มีการเหลื่อมเวลาบริการด้วยระบบคิว เพื่อลดความแออัด ลดเวลาให้บริการให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น ถือหลักหลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน ผู้ให้บริการต้องสวมหน้ากาก สวม Face shield

...

จัดพื้นที่รอคิว จุดจ่ายเงิน จุดให้บริการ มีสัญลักษณ์เว้นระยะห่างของจุดบริการระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร รวมทั้งไม่ยืนออกมานอกร้าน หรือทางเดิน จนเป็นอุปสรรคในการสัญจร

ถ้ามีการชําระด้วยเงินสด ต้องไม่สัมผัสมือโดยตรง เช่น มีถาดรับเงิน หรือบัตรเครดิต ต้องพ่นแอลกอฮอล์ในการทอนเงินให้ผู้ใช้บริการทุกครั้ง ซึ่งพนักงานรับเงินต้องสวมถุงมือตลอด มีการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ ส่วนการบริการต้องสวมหน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร เป็นต้น...

ประการต่อมา...ในระยะมาตรการผ่อนปรน 14 วัน จะมีเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร ลงพื้นที่สุ่มตรวจกิจการและกิจกรรมเป็นระยะต่อเนื่อง เพื่อเป็นการประเมินในการปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ในการควบคุมป้องกันเชื้อโควิด-19 โดยเคร่งครัด

“หากไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ต้องมีการประเมิน ก่อนการตักเตือนเบื้องต้น เพื่อปรับปรุงให้ถูกต้อง ถ้าไม่มีการพัฒนาหรือปรับปรุงตามคำแนะ และสถานที่แห่งนั้นมีความสุ่มเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรค สามารถมีอำนาจ “สั่งปิด” ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 หากฝ่าฝืนคำสั่งก็จะมีบทลงโทษตามความผิดนั้น” นพ.สราวุฒิว่า

ซึ่ง “กรมอนามัย” ก็ได้สร้างแพลตฟอร์ม Stopcovid-19 เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับการผ่อนปรนเปิดใหม่มาประเมินความพร้อมให้บริการ ด้วยการเช็กลิสต์ตัวเอง หากมีความพร้อมจะได้รับปักหมุดสถานประกอบกิจการนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้บริการในพื้นที่ผ่อนปรนได้ปลอดภัย

ทำให้ประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้าไปตรวจสอบในการช่วยรายงานข้อมูลกลับมาด้วยว่า...สถานประกอบการแต่ละแห่งปฏิบัติตามมาตรการคัดกรอง เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือหรือไม่ เพื่อเป็นการพัฒนามาตรฐานรองรับสถานบริการ และประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบไปพร้อมกัน

ย้ำว่า...ในมาตรการผ่อนปรนยกแรก 14 วันนี้ ถ้ารักษาผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ระดับต่ำ อาจมีการพิจารณาเพิ่มประเภทกิจการและกิจกรรม ที่สามารถเปิดดำเนินการในระยะที่ 2 อีกได้ แต่หากยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะต้องถอยหลังกลับมาทบทวนใหม่ อาจมีการพิจารณางดการผ่อนปรนทั้งหมดก็ได้...

ดังนั้น คงต้อง “ตรึงมาตรการป้องกัน” กำชับว่า “การ์ดอย่าตก” ทั้งใส่หน้ากากอนามัย ทำความสะอาดพื้นที่ เว้นระยะห่างอย่างเข้มข้นไว้ต่อไป...