นับตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ “คนไทย” เหมือนพอมีข่าวดีขึ้นมาอยู่บ้าง เมื่อยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด–19 รายใหม่ ที่มีแนวโน้มลดลง ที่ยังต้องนั่งลุ้นกันวันต่อกัน ทำให้หลายคนรู้สึก “หัวใจพองโต” มีความหวังเหตุการณ์เลวร้ายกำลังเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีโดยเร็วนี้
แม้ว่า...“โควิด–19” มีแนวโน้มดีขึ้น แต่อย่าลืม “ปัญหาหมอกควันพิษ” ในจังหวัดภาคเหนือจนเกิดฮอตสปอตสูง กระจายหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ “สถานการณ์ภัยแล้ง” ที่ประชาชนและเกษตรกรในหลายจังหวัด ต่างได้รับผลกระทบ ขาดแคลนน้ำลากยาวกันมาตั้งแต่ปี 2562 จากปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่...
เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในวันที่ 13 เม.ย.2563 ปริมาณน้ำรวม 8,997 ล้าน ลบ.ม. หรือ 36% ความจุอ่าง มีน้ำใช้การได้ 2,301 ล้าน ลบ.ม. หรือ 13% และระบายน้ำรวมกันวันละ 19 ล้าน ลบ.ม.

...
สาเหตุจากปีกลาย 2561-2562 ประสบปัญหาภัยแล้ง มีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ และอ่างเก็บน้ำต่างๆ อยู่ในเกณฑ์น้อย ส่งผลกระทบต่อการจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกการเกษตรในพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง “ทีมสกู๊ปหน้า 1” ยังคงติดตามสถานการณ์ภัยแล้งเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์พื้นที่ จ.ปทุมธานี
ซึ่งแหล่งน้ำหลายพื้นที่ปริมาณน้ำการใช้ไม่เพียงพอตลอดฤดูแล้ง ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำ ทำให้ต้องมีการบริหารจัดการน้ำ ทั้งอุปโภค บริโภค และพื้นที่การเกษตร จนต้องมีแผนประเมินสภาพอากาศก่อนสิ้นสุดฤดูแล้ง เพื่อรองรับน้ำหลากในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ให้สอดคล้องกับสภาพอากาศอย่างรัดกุม
และปีนี้น่าจะเกิด “พายุฤดูร้อน” ทุกภูมิภาค แต่ฝนจะมาล่าช้ากว่าปกติ...
ในแหล่งน้ำหลายพื้นที่มีปริมาณไม่พอใช้การนี้ สุนทร ซื่อเลื่อม หน.ฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ ให้ข้อมูลว่า...ในช่วงนี้เริ่มมีฝนฤดูร้อนตกลงมา ทำให้สถานการณ์คลี่คลายระดับหนึ่ง แต่สภาพภัยแล้งปัจจุบันก็ไม่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำได้
ทำให้กรมชลประทานต้องจัดสรรน้ำช่วยเหลือเกษตรกร ที่คงมีการปลูกพืชสวนและไม้ยืนต้นในพื้นที่เขตลุ่มน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สามารถใช้น้ำได้จากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองระพีพัฒน์
ด้วยการจัดรอบเวรการระบายน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ระดับเพียงพอ

สำหรับ “ต้นน้ำ” มาจาก “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์” ไหลผ่านแม่น้ำป่าสัก เข้ามาทดน้ำ “เขื่อนพระรามหก” ส่งต่อมาที่ “คลองระพีพัฒน์” มีชื่อเดิม “คลองสิบสาม” ก่อนที่จะไหลผ่านแยกออกเป็นหลายสาย เช่น คลองระพีพัฒน์แยกใต้ คลองรังสิตสายกลาง คลองรังสิต คลองสิบสาม และคลองสิบสามสายล่าง ไปสุดสิ้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา
อีกสาย “คลองระพีพัฒน์แยกตก” ส่งน้ำผ่านมา “ประตูระบายน้ำพระอินทร์ราชา” และไหลรอดใต้ถนนพหลโยธินมาบรรจบกับ “คลองเปรมประชากร” ลงสู่ “แม่น้ำเจ้าพระยา” ต่อไป เพื่อให้ประชาชนได้มีใช้อุปโภค บริโภค ใช้ด้านการเกษตร และระบบนิเวศแวดล้อม
สถานการณ์ปกติ...ในพื้นที่การส่งน้ำชลประทาน ลุ่มน้ำเขื่อนป่าสักฯ ส่วนใหญ่ปลูกข้าวนาปรัง โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี แต่ปีนี้ต้องขอความร่วมมือให้งดปลูกข้าวนาปีและปลูกนาปรัง ทำให้พืชคงเหลืออยู่คือ พืชสวน และไม้ยืนต้น ตรงนี้ยังให้ความสำคัญ มีการส่งน้ำช่วยหล่อเลี้ยงดูแลไม่ให้เกิดเสียหายอยู่ตลอด
หลักเกณฑ์...จัดสรรน้ำ “พื้นที่ตอนล่าง” ประมาณ 8-10 ลบ.ม.ต่อวินาที แบ่งไป “ฝั่งระพีพัฒน์แยกตก” ในเกณฑ์ขั้นต่ำ 2-3 ลบ.ม.ต่อวินาที และส่งน้ำสนับสนุน “คลองระพีพัฒน์แยกใต้” หรือ “คลองสิบสาม” ที่ให้ความสำคัญเรื่อง “อุปโภค บริโภค” เป็นหลัก ด้วยสนับสนุนน้ำดิบผลิตประปาส่วนภูมิภาคสาขาธัญบุรี 1 ลบ.ม.ต่อวินาที
อีกทั้งยังต้องส่ง “น้ำ” สนับสนุนการทำประปาในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา กำลังเผชิญกับ “ภัยแล้ง” ที่ยังเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำดิบผลิตประปา จนมีระดับความเค็มสูง ทำให้ไม่สามารถผลิตประปาได้ ในการนี้ยังต้องจัดสรรน้ำแบ่งปันตามวงรอบเวรระบายน้ำ เพื่อหล่อเลี้ยงพืชสวน และไม้ยืนต้นของเกษตรกรด้วย...
...

ในเขตความรับผิดชอบ...มีพื้นที่ปลูกพืชสวน ไม้ยืนต้น และพืชไร่ ประมาณ 8-9 หมื่นไร่ ซึ่งต้องพยายามหาน้ำมาสนับสนุนให้เพียงพอหล่อเลี้ยงพืชสวนของประชาชน ไม่ให้เกิดความเสียหายในการฝ่าวิกฤติภัยแล้งนี้ จนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนให้ได้แน่นอน
ตามนโยบาย...ปีนี้มีการคำนวณปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีหลักเกณฑ์ให้ความสำคัญ...อันดับแรก...เรื่องอุปโภค บริโภค เพื่อให้พี่น้องประชาชน มีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอ อันดับสอง...เรื่องการรักษาระบบนิเวศ
ส่วนน้ำสนับสนุนการทำนามีไม่เพียงพอ ทำให้มีแผนกำหนดรอบการปลูกนาปีใหม่ ในเดือน พ.ค.-31 ต.ค.2563 ที่คงต้องรอปริมาณน้ำฝน มาช่วยในการเปลี่ยนแปลงภัยแล้งนี้ หากปริมาณน้ำลงมาชุ่มฉ่ำ ก็เริ่มเพาะปลูกได้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย
ด้าน “นาปรัง” ได้กำหนดตั้งแต่ 1 พ.ย.2563-30 เม.ย.2564 คงต้องประเมินปริมาณน้ำที่จะตกลงมาในเขื่อนสำหรับใช้ปี 2563 หากเก็บน้ำได้ตามเป้ากำหนด ก็สามารถส่งไปสนับสนุนเกษตรกรได้เหมือนเดิม...
...

ความจริงแล้ว...“คลองระพีพัฒน์แยกใต้” ถือว่า เป็นแหล่งน้ำสายหลักเสมือนสายเลือดสำคัญพื้นที่ตอนล่าง ที่รองรับน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ ส่งมาช่วยเหลือประชาชน ทั้งการบริโภค อุปโภค และใช้หล่อเลี้ยงพืชสวน ระบบนิเวศต่างๆในพื้นที่ จ.ปทุมธานี จ.ฉะเชิงเทรา ที่ต้องมีน้ำเลี้ยงตามเกณฑ์ควบคุมในสภาวะภัยแล้งปกติทั่วไป
ประเด็นสำคัญในปี 2563...เกิดจากปรากฏการณ์ภัยแล้งระดับรุนแรง ในหลายสิบปีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีลักษณะแล้งมากกว่าปี 2558 ด้วยซ้ำ ทำให้ปริมาณน้ำมีเกณฑ์ต่ำกว่าระดับการเก็บกัก แต่ปริมาณน้ำก็ไม่ได้น้อยมากเกินการควบคุม จนเกิดผลกระทบพืชผลการเกษตรเสียหาย
เพราะมีการคำนวณการบริหารจัดการน้ำไว้เป็นอย่างดี เพื่อจัดการส่งน้ำสนับสนุนไปให้สิ้นสุดฤดูแล้งนี้ ซึ่งชนิดแบบมีน้ำทั้งหมดเท่าไร ก็ต้องบริหารจัดสรรให้ได้เท่านั้น ที่เรียกว่า “สนับสนุนน้ำแบบเทหมดหน้าตัก” เพื่อช่วยในกิจกรรมการบริโภค อุปโภค และใช้หล่อเลี้ยงพืชสวน ระบบนิเวศเพียงพอ
คาดว่า...น้ำในเขื่อน 4 เขื่อนหลัก น่าจะสามารถมีน้ำใช้ได้ถึงเดือน มิ.ย.2563 จนกว่าจะมีปริมาณฝนตกลงมาอย่างเต็มที่ ซึ่งตามการคำนวณไว้...ฝนน่าจะตกลงมาตั้งแต่เดือน พ.ค. แต่ต้องตรวจสอบเรื่องการพยากรณ์ กรมอุตุนิยมวิทยาอีกครั้ง อย่างไรก็ดีก็ต้องจัดสรรน้ำให้เพียงพอ จนกว่าจะมีน้ำฝนลงมาเติมเต็มน้ำให้เขื่อนแน่นอน
...
ตามปกติแล้ว...ประเทศไทยตั้งอยู่ใน “ภูมิประเทศเขตร้อน” ตามสถิติ “ฝน” มีมาล่าช้าที่สุด มักอยู่ประมาณไม่เกินกลางเดือน ก.ค. ส่วนมากแล้วในเดือน มิ.ย.ปริมาณฝนก็มีมากขึ้น...จึงไม่น่ามีเรื่องวิตกกังวลอะไรมาก
หากย้อนกลับมาดู...“ตามโบร่ำโบราณ” ในช่วงเดือน เม.ย. ก็เริ่มฝนตกลงมากันบ้างแล้ว เพียงแต่ว่า...อาจมีระยะหลายวันจะตกครั้ง ทำให้ “น้ำฝน” ไม่ได้รับเต็มเม็ด...เต็มหน่วยมากเท่าที่ควร
“ยอมรับว่า...ปี 2558 ประเทศไทยเผชิญภัยแล้งรุนแรงมากในระยะ 3 เดือน ตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค. แต่ปี 2563 กลับเป็นวิกฤติที่หนักรุนแรงกว่านั้น เพราะประสบปัญหาภัยแล้งตั้งแต่เดือน ธ.ค.2562 จนถึงปัจจุบัน สาเหตุจากปริมาณฝนตกลงเขื่อนหลักน้อย ส่วนใหญ่ฝนตกบริเวณพื้นที่ด้านท้าย ทำให้เก็บกักน้ำไม่ได้” สุนทรว่า

ทำให้น้ำต้นทุนส่งช่วยเหลือในช่วงฤดูแล้งน้อยด้วย จนชาวบ้านได้รับผลกระทบความเดือดร้อน แต่สุดท้ายผู้ปฏิบัติต้องบริหารน้ำให้ได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด ด้วยการหาแหล่งน้ำสำรองสนับสนุนอยู่ตลอด เช่น...
น้ำประปาเค็มที่เกิดจากน้ำทะเลหนุนสูง มีการผันน้ำจาก “แม่น้ำแม่กลอง” และ “แม่น้ำท่าจีน” ดึงมาช่วย “แม่น้ำเจ้าพระยา” ดันน้ำทะเลหนุนออกไป จนผ่านพ้นปัญหานี้ไปได้ด้วยดี
ย้ำว่า...ขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อจะช่วยฝ่าวิกฤติภัยแล้งนี้ไปด้วยกันได้...