หน้าที่เทศบาล แต่ในความจริง มูลนิธิแย่งกันเก็บศพมากว่า 35 ปีแล้ว!?
พอวันนี้ไม่เก็บ
หากศพเน่าเหม็น ยิ่งแพร่เชื้อใครรับผิดชอบ การที่มูลนิธิไม่เก็บศพจะเป็นการงดเว้นการทำหน้าที่หรือไม่?
กว่า 35 ปีนานพอที่จะเรียกว่า เป็นจารีตประเพณีหรือไม่ การที่มูลนิธิเก็บศพจนชินตาถือเป็นหน้าที่ ทางตำรากฎหมายเรียกว่า “หน้าที่อันเกิดจากพฤติการณ์ครั้งก่อนๆ ของตนที่เคยทำ”
ว่าที่ พ.ต.ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทาง ก.ม.เนติบัณฑิตยสภา มองว่า ก.ม.อาญามาตรา 59 บอกว่า บุคคลใดจะต้องรับผิดอาญา ต้องกระทำโดยเจตนา และการกระทำหมายถึงการทำให้เกิดผลหนึ่งอันใดด้วยการงดเว้นการจักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย
และมี ป.อาญา 374 ใกล้เคียงกับเรื่องนี้คือ ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกในภยันตรายแห่งชีวิต ตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเอง แต่ไม่ช่วย มีความผิดมีโทษจำคุกและปรับ
กล่าวให้เห็นภาพคือ ถ้ามีศพโควิด คนกลัวว่าศพจะแพร่เชื้อ เพราะเชื้อเป็นภยันตรายแก่ชีวิตคนทั่วไป มูลนิธิเห็นว่า อาจเป็นอันตรายกับตน เลยไม่เก็บ
เรื่องเก็บศพเป็นงานจิตอาสา บริการสาธารณะไม่ใช่หน้าที่ตามกฎหมาย หากมูลนิธิเห็นว่าเสี่ยงก็ไม่ต้องช่วย
ทางแก้คือ แพทย์ต้องให้องค์ความรู้เรื่องศพโควิด เชื้อตายเมื่อคนตาย ไม่ใช่มาเถียงกันหน้างาน...
สรุปว่าในความเห็นของ พ.ต.ดร.สมบัติ อาสามูลนิธิจะเก็บศพก็ได้ ไม่เก็บศพก็ได้
เพราะฉะนั้นผมมีข้อเสนอแนะ...ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยจะมีเจ้าหน้าที่นิติเวชมาเก็บศพผู้เสียชีวิตไปตรวจพิสูจน์เอง
นอกจากจะมีความรู้ตามหลักนิติวิทยาศาสตร์แล้ว ยังไม่ต้องมาพึ่งภาคเอกชน ที่ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้?