มังคุดอยู่ในระยะออกดอก ติดผลอ่อน กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนมังคุดเฝ้าระวังการระบาดของเพลี้ยไฟ

ยิ่งอุณหภูมิสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้เกิดการเพิ่มประชากรของเพลี้ยไฟได้มากขึ้น

เพราะอากาศที่ร้อนขึ้นช่วยให้การวางไข่ของเพลี้ยไฟมากขึ้น ประกอบกับปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า ฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ฝนที่เป็นตัวช่วยลดปริมาณเพลี้ยไฟมีน้อย การระบาดยิ่งน่าห่วง

การเข้าทำลายในระยะมังคุดออกดอกถึงระยะติดผลอ่อน ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆของพืช ทำให้ดอกและผลอ่อนมังคุดร่วง

ส่วนผลที่ไม่ร่วงเมื่อพัฒนาเป็นผลโต ผิวเปลือกมังคุดจะขรุขระ ที่เรียกว่า “ผิวขี้กลาก” ทำให้ผลผลิตมังคุดมีคุณภาพต่ำ ขายไม่ได้ราคา

การเข้าทำลายในระยะแตกยอดอ่อนและใบอ่อน จะส่งผลทำให้ต้นมังคุดชะงักการเจริญเติบโต แคระแกร็น หงิกงอ ใบไหม้ และต้นมังคุดขาดความสมบูรณ์

การป้องกันและแก้ไข ให้สำรวจการระบาดของเพลี้ยไฟบนใบอ่อน ดอก และยอดอ่อน หากพบเพลี้ยไฟตั้งแต่ 1 ตัวขึ้นไปต่อ 4 ดอก หรือ 1 ตัวต่อยอดหรือผลอ่อน

ให้ฉีดพ่นด้วยสารกำจัดแมลง อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะซีทามิพริด 20% เอสพี อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สไปนีโทแรม 12% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

ไม่ควรพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่งติดต่อกันหลายครั้งนานเกิน 1 เดือน เพราะจะทำให้เพลี้ยไฟเกิดการดื้อยาได้.

สะ-เล-เต