ย้อนความสำคัญของคำประกาศภาวะฉุกเฉิน “องค์การอนามัยโลก” หรือ WHO ที่ให้สถานการณ์ระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 หรือย่อว่า โควิด-19 ถือเป็น “สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” จากผลกระทบที่มียอดติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 24 ประเทศ
คำประกาศภาวะฉุกเฉินนี้มีผลให้ประเทศภาคีสมาชิก 194 ประเทศทั่วโลก ยกระดับมาตรการด้านสาธารณสุขในการป้องกันลดการแพร่ระบาดระหว่างประเทศ ตามบทบัญญัติกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548
หลักสำคัญ...คือ ตรวจจับการระบาด หรือภัยคุกคามด้านสาธารณสุข ลดผลกระทบการเดินทางและขนส่งระหว่างประเทศ แก้ไขจาก “กฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2512” เพราะบางประเทศนำเรื่องนี้เป็นข้อกีดกันทางการค้า และใช้มาตรการรุนแรง ทั้งกักตัว ห้ามเข้าประเทศ การเลือกปฏิบัติ หรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
จึงจัดทำกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 มีตัวบท 66 มาตรา กำหนดมาตรการปฏิบัติในภาคผนวก 9 ข้อ โดยเฉพาะสมรรถนะหลักการเฝ้าระวังเตรียมความพร้อม และการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ตลอดจนช่องทางเข้าออกของประเทศสมาชิก ตามเนื้อหาหนังสือ...ที่นี่มีคำตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548
ประเด็นสำคัญ...“สมรรถนะหลัก” ถือว่าเป็นขีดความสามารถในการปฏิบัติงานป้องกัน และแจ้งเตือนโรคติดต่อที่มีโอกาสแพร่ระบาดข้ามประเทศ โดยเฉพาะไข้ทรพิษ โปลิโอมัยอิลัยตีส ไข้หวัดใหญ่ในคนสายพันธุ์ใหม่ และซาร์ส (SARS) ต้องแจ้งองค์การอนามัยโลกใน 24 ชั่วโมง...
...
ซึ่งภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ จากการแพร่ระบาดโรคระหว่างประเทศนี้ ต้องเข้าเงื่อนไข 2 ใน 4 ข้อ คือ...1.มีผลกระทบด้านสาธารณสุขรุนแรง 2.เหตุผิดปกติไม่คาดคิดมาก่อน 3.มีความเสี่ยงสูง แพร่ระบาดข้ามประเทศ และ 4. มีความเสี่ยงสูงต้องจำกัดการเดินทาง หรือการค้าระหว่างประเทศ
ที่ผ่านมา...มีคำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ตั้งแต่ “โรคซาร์ส” เริ่มเกิดขึ้นที่ฮ่องกง “ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009” ที่ระบาดทั่วโลก “โรคไข้หวัดนก H5N1 ในคน” ระบาดในหลายประเทศ “การระบาดเชื้อแบคทีเรียอีโคไลชนิดรุนแรง สายพันธุ์ O104 : H4” เริ่มเกิดขึ้นในเยอรมนี

กรณีนมผงปนเปื้อนเมลามีนจากจีน ที่ส่งออกไปขายในหลายประเทศ การปนเปื้อนกัมมันตรังสี จากกรณีการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น การระบาดของการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ที่เริ่มเกิดขึ้นที่ซาอุดีอาระเบีย โรคโปลิโอ Wild type ที่ยังคงระบาดอยู่ในหลายประเทศ เช่น บังกลาเทศ ซีเรีย ซูดาน
ทว่า...“ประเทศไทย” เป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก ในปี 2550 ครม.เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขทำแผนงานด้านกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 มี 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่หนึ่ง...พัฒนาสมรรถนะหน่วยงานกับระบบเฝ้าระวังโรค และภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพตรวจจับความผิดปกติ
ยุทธศาสตร์ที่สอง...พัฒนาห้องปฏิบัติการทุกระดับให้สามารถตรวจวินิจฉัยเชื้อโรค สารเคมี กัมมันตรังสี ยุทธศาสตร์ที่สาม...พัฒนาช่องทางเข้าออกประเทศตามข้อกำหนดอย่างน้อย 18 แห่ง ยุทธศาสตร์ที่สี่...พัฒนาการประสานงานในการปฏิบัติบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
อีกทั้งยังมีทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ตั้งแต่ระดับ ประเทศ เขต จังหวัด อำเภอ ในการเฝ้าระวังเหตุการณ์ความผิดปกติของโรค และภัยสุขภาพในชุมชน และควบคุมโรค

ในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โรคไข้หวัดนกในคน โรคมือเท้าปากในประเทศกัมพูชาและประเทศไทย การระบาดแบคทีเรียอีโคไลชนิดรุนแรงรวมทั้งกรณีนมผงปนเปื้อนสารเมลามีนจากประเทศจีน ซึ่งประเทศไทยได้รับผลกระทบทางอ้อม
...
การระบาดของการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในประเทศภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งมีการพัฒนาเครือข่ายและสมรรถนะของห้องปฏิบัติการในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข การพัฒนาสมรรถนะของช่องทางเข้าออกประเทศ ทั้งที่เป็นท่าอากาศยาน ท่าเรือ และด่านพรมแดน 18 แห่งมาตลอด
หนำซ้ำ...ยังมี พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่เป็นเครื่องมือด้านกฎหมาย ในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกันควบคุมโรคติดต่ออันตราย โรคระบาด ที่เป็นกลไกดำเนินงาน มีทั้งระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่
โดยเฉพาะกรณีมีเหตุ...“จำเป็นเร่งด่วน” เพื่อป้องกันการแพร่โรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาด ให้ผู้ว่าฯ หรือ ผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจในพื้นที่ความรับผิดชอบ “สั่งปิด”...ตลาด สถานที่ประกอบการ หรือจำหน่ายอาหาร สถานที่ผลิต หรือจำหน่ายเครื่องดื่มโรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใดไว้เป็นการชั่วคราว
สิ่งสำคัญ...มีอำนาจสั่งให้ผู้เป็นหรือผู้ต้องสงสัย หยุดประกอบอาชีพชั่วคราว หรือสั่งห้าม เข้าไปในสถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา สถานที่อื่นใด เว้นได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อหากไม่ปฏิบัติตามอาจต้องมีโทษทั้งจำคุกหรือปรับ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 นี้
ตามมาตรการรับมือโรคอุบัติใหม่นี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หน.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสภากาชาดไทย และ ผอ.ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านค้นคว้า และอบรมไวรัสสัตว์สู่คน มองว่า การระงับเชื้อไวรัสโคโรนานี้ไม่สามารถป้องกันสกัดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาคัดกรองไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดระหว่างประเทศกันอย่างเข้มงวด
...
โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตามพรมแดน และบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข คือ “บุคคลปิดทองหลังพระ” ต่างทุ่มเทเสียสละ แรงกาย แรงใจ ระดมสรรพ-กำลัง ระดมสมอง ระดมเทคโนโลยีต่างๆ สนับสนุนในการค้นหาและคัดกรองตรวจหาตัวอย่างเชื้อไวรัสโคโรนามากกว่า 1,000 ตัวอย่างต่อวัน

อีกทั้งในจังหวัดแหล่งท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่างรับบทหนักมาก ต้องทำงานตลอด 24 ชม.เพราะนักท่องเที่ยวมีไข้หวัดธรรมดา ก็มีความสงสัยตัวเองติดเชื้อไวรัสโคโรนา ต่างแห่เข้าตรวจคัดกรองมากมาย
ทั้งหมดนี้ คือ มาตรการของภาครัฐในการรับมือเฝ้าระวัง “ไวรัสโคโรนา 2019” อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดตามรูปแบบของการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินให้ทันท่วงที ในการสร้างความมั่นใจ และความน่าเชื่อถือให้กับประชาชน
สิ่งสำคัญ...รัฐบาลไทยต่างเร่งทำงานป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรนา ที่แข่งกับเวลากันอย่างหนัก ในการรายงานสถานการณ์อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมาให้รวดเร็วที่สุด เพื่อเป็นการชี้แจงกระบวนการดำเนินงานทุกขั้นตอนให้ได้มาตรฐานระดับสากล สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนทั่วโลก
...
แม้ว่า...“ประเทศไทย” มีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศแรกๆ เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่การควบคุมสถานการณ์ได้ดี ในอนาคตหากมีไวรัสแปลกประหลาดเกิดขึ้นอีก เชื่อว่าต่างชาติก็เข้ามาท่องเที่ยวเมืองไทยเช่นเดิม เพราะมีความเชื่อมั่นในมาตรการป้องกันของการแพร่ระบาด ที่พร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่อยู่เสมอ
จริงๆแล้ว...มีมาตรการป้องกันโรคอุบัติใหม่ เทียบเท่าระดับสากลด้วยซ้ำ ตั้งแต่การรับมือระบาดโรคอีโบลา (Ebola) โรคซาร์ส (SARS) โรคเมอร์ส (MERS) โดยเฉพาะปี 2009 เกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอช 1 เอ็น 1 ต่างมีการบูรณาการทุกภาคส่วน รวมถึงมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย มีการสนับสนุนกันซึ่งกันและกัน
การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เป็นการให้อำนาจขอบเขต หรือสิทธิการปฏิบัติแต่ละประเทศ สามารถดำเนินการได้ตามบริบทความเหมาะสมของประเทศนั้น เพราะมีปัจจัย อุปสรรค และความพร้อมไม่เท่ากัน หากประเทศใดมีมาตรการที่สูงกว่าก็ดำเนินการได้เช่นกัน...
จริงแล้ว...ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องอาศัยการประกาศขององค์การอนามัยโลกด้วยซ้ำ เพราะมี พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งสามารถประกาศใช้มาตรการป้องกันโรคติดต่อเองเลยก็ได้ แม้การปฏิบัติป้องกันไวรัสโคโรนา ก็มีลักษณะรูปแบบตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 แต่ยังไม่มีออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนเท่านั้น...
ทั้งหมดนี้คือการสร้างโครงข่าย และมาตรการที่มีอยู่ สามารถคุ้มกันให้ประเทศไทยมีความปลอดภัยจากโรคระบาดตลอดมา...