ย้ำต้องเข้าใจเด็กยุคใหม่ สวมบทตะแกรงร่อนสาระแท้ให้ นร.

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า ในศตวรรษที่ 21 สิ่งที่ ครูทุกคนต้องเข้าใจตรงกัน คือ ลูกศิษย์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนจากเจเนอเรชัน X, Y มาสู่เจเนอเรชัน Z หมดแล้ว ครูต้องไม่ทึกทักเอาเองว่าครูเข้าใจลูกศิษย์ ซึ่งเด็กเจเนอเรชัน Z มีความแตกต่างจากเจเนอเรชันอื่นๆ มาก อยากให้มองว่าขนาดพระพุทธเจ้าท่านจะสอนใคร ท่านยังต้องเลือกเลยว่าคนที่ท่านจะเทศน์สอนเป็นคนประเภทไหน ดังนั้นหากครูยังไม่เข้าใจและไม่พยายามปรับตัวในเรื่องนี้การศึกษาไทยก็จะล้มเหลวเป็นรอบที่สองอีก เพราะครูก็คงเป็นผู้สอนฝ่ายเดียว

ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่โตมากับการมีปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์กับสมาร์ทโฟน หาความรู้ได้จากสิ่งเหล่านี้ โดยไม่จำเป็นต้องฟังครู ดังนั้นเมื่อครูเข้าใจเด็ก และรู้วิธีการเรียนรู้ของเด็กครูก็จะสอนได้ตรงกับความสนใจของเขา อีกทั้งครูในยุคปัจจุบันต้องมีบทบาทหน้าที่คอยเป็นตะแกรงเพื่อร่อนสาระต่างๆที่มากับสื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ว่าอันไหนคือสาระแท้ อันไหนสาระเทียมที่เด็กควรจะได้เรียนรู้

ดร.กฤษณพงศ์กล่าวต่อไปว่า พอสังคมพัฒนาขึ้น ย่อมมีปัญหาใหม่ๆเกิดขึ้นตามมา เช่น ปัญหาเด็กที่โตมากับครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ปัญหาเด็กที่ถูกเลี้ยงด้วยเงินจากพ่อแม่ที่เอาแต่ทำงานไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ลูก หรือแม้แต่เด็กที่ปู่ ย่า ตา ยาย เลี้ยงมา บางส่วนเกิดปัญหาหลายๆอย่างตามมา ดังนั้นครูจะต้องตื่นตัวเพื่อเรียนรู้ และเข้าใจกับปัญหาเหล่านี้มากขึ้น เพราะครูจะไม่ได้เป็นแค่ผู้สอนสาระความรู้อย่างเดียวเหมือนแต่ก่อน แต่ครูต้องสอนสาระของความเป็นคน หรือทักษะมนุษย์ให้เด็กด้วย

...

“ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปขนาดไหนก็ตาม ครูก็อยู่ต่อไป เพียงแต่ครูต้องปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงการสื่อสารไปยังเด็กให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ครูจะเปลี่ยนบทบาท ครูจะทำหน้าที่คอยแนะนำให้เด็กไปหาสื่อ ไปอ่านจากสื่อที่เป็นสาระแท้ จากนั้นค่อยนำมาพูดคุยหาเหตุและผลกัน ซึ่งจะทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและลูกศิษย์มากขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนที่ครูจะใช้วิธีดาวน์โหลดสาระความรู้ใส่ลูกศิษย์ผ่านทางกระดานดำ ผ่านไวท์บอร์ด ผ่านเพาเวอร์พอยต์ และส่งไฟล์งานให้เด็กอ่าน แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่แล้ว เด็กประถมศึกษาสามารถค้นหาความรู้ได้เองผ่านคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนโดยไม่ต้องรอครูแล้ว จึงเป็นเรื่องที่คุณครูต้องปรับตัวเพื่อรู้เท่าทันเด็กให้ได้” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว.