ยังเป็นหนังเรื่องยาวที่ต้องจับตากันข้ามปี กับการกำจัดสารเคมีอันตรายที่คนไทย-เกษตรกรไทย คุ้นเคยกันมากว่าครึ่งศตวรรษกับ 3 เกลอกำจัดศัตรูพืช-แมลงในตำนาน “พาราควอต” (ชื่อการค้า-กรัมม็อกโซน) “ไกลโฟเซต” (ชื่อการค้า-ราวด์อัพ) และ “คลอร์ไพริฟอส” ทั้งที่ตอนนี้กว่า 50 ประเทศทั่วโลกตระหนักถึงมหันตภัยร้ายและพร้อมใจกันยกเลิกใช้ ด้วยเห็นความสำคัญของสุขภาพพลเมืองในประเทศมากกว่า

ไทยเองก็ไม่ใช่ “ไม่อยากเลิก” และมีความพยายามมาหลายปี แต่จนถึงขณะนี้ ที่ว่าจะสำเร็จก็กลับเพลี่ยงพล้ำ

โดยฝ่ายที่ออกมารณรงค์ให้คนไทยเลิกใช้สารพิษทั้ง 3 ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พาราควอต-ไกลโฟเซต” คือหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพคนไทยทั้งประเทศอย่างกระทรวงสาธารณสุข เป็นหลัก มาผนึกกำลังกับ วิฑูรย์เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) พร้อมมีกองหนุนในนามเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร รวมถึง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ ที่ร่วมให้ข้อมูล “ทำไมไทยถึงควรแบนสามสารพิษทางการเกษตร” ซึ่งแน่นอนว่าหลักๆยังคงชี้ให้เห็นถึงพิษภัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้โดยตรง ไปจนถึงการตกค้างของสารพิษในดินในน้ำและผลผลิตที่จะส่งผลถึงผู้บริโภค ที่มีการหยิบยกงานวิจัยจากต่างประเทศมาฉายให้เห็นผลกระทบจากการใช้ยาฆ่าหญ้าที่มีต่อสุขภาพด้านต่างๆ แถมเชื่อมโยงไปถึงโรคร้าย ทั้งมะเร็ง พาร์กินสัน และโรคเนื้อเน่า!

...

แต่ดงหนามของกลุ่มที่เล็งเห็นพิษร้ายของ 3 สารเคมีดังกล่าว หนีไม่พ้นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้มีหน้าที่กำกับดูแลสารเคมีทางการเกษตรทั้งปวงในไทย ต่อด้วยคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ที่ปัจจุบันมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน

ทั้งที่นับตั้งแต่เริ่มมีการเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติยกเลิกใช้ 3 สารพิษดังกล่าวตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 ซึ่งสถานการณ์ทำท่าจะดี เมื่อกระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงานสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงจาก 4 กระทรวงหลัก มีมติให้แบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต ภายในสิ้นปี 2562 โดยเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช “พาราควอต” ภายในเดือนธันวาคม 2561 ต้องยุติการนำเข้าและต้องยุติการใช้ทั้งหมดภายในเดือนธันวาคม 2562 พร้อมเรียกร้องกรมวิชาการเกษตร ยุติการต่อทะเบียนใหม่และจำกัดการนำเข้าสารเคมีทั้ง 3 ชนิดโดยทันที แต่ 19 พฤศจิกายนปีเดียวกัน กรมวิชาการเกษตรกลับอนุญาตให้บริษัทจำหน่ายเคมีเกษตรต่อทะเบียนพาราควอต สวนข้อเสนอกระทรวงสาธารณสุข

...

จากนั้นการแบน 3 สารเคมีอันตราย ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็พบอุปสรรคสารพัดเรื่อยมาท่ามกลางเสียงร่ำลือถึง “ผลประโยชน์มหาศาล” ที่จะมีทั้งคนได้และคนเสีย หากไทยประกาศห้ามใช้สารเคมีฆ่าหญ้า/ฆ่าแมลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พาราควอต-ไกลโฟเซต” พร้อมกันยกเซต! และนำไปสู่การเปิดหน้าของกลุ่มคัดค้านการแบนสารเคมี ที่มีทั้งเกษตรกร นักวิชาการ นายแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ฯลฯ พร้อมใจงัด “ข้อมูลอีกด้าน” ถล่มใส่อีกฝั่งอย่างไม่ยั้ง แม้ช่วงครึ่งแรกของปี 62 กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ สาธารณสุข เกษตรและสหกรณ์ และอุตสาหกรรม ที่มีรัฐมนตรีดูแลจาก 3 พรรค ได้แก่ อนุทิน ชาญวีรกูล (ภูมิใจไทย) เฉลิมชัย ศรีอ่อน (ประชาธิปัตย์) และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (พลังประชารัฐ) ตามลำดับ ต่างยืนยันหนักแน่นให้มีการแบนสารพิษทั้ง 3 ไปแล้วก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายอนุทิน ที่ย้ำมาตลอดว่าสุขภาพของประชาชนต้องมาก่อน ยิ่งเป็นเรื่องอาการเจ็บป่วยของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษทางการเกษตรด้วยแล้ว...

“มันเป็นไปไม่ได้เลยที่กระทรวงสาธารณสุขจะให้ใช้ต่อ โดยได้หารือกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันที่จะทำให้สารเคมีเหล่านั้นหมดไป เรื่องแบนเราต้องเดินหน้า แต่ก็ต้องหาสารมาทดแทนด้วย” นายอนุทินกล่าว และเมื่อผสานมือกับนางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ จากพรรคเดียวกันที่ไปนั่งคุมกรมวิชาการเกษตร จึงเชื่อว่าการจะแบน 3 สารเคมีพิษให้จบในปี 62 ก็ไม่น่ายาก ถึงขนาดที่ นางมนัญญากล่าวอย่างมั่นใจว่าที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย วันที่ 22 ตุลาคม 62 จะแบน 3 สารเคมีได้สำเร็จ ท่ามกลางเสียงคัดค้านอย่างหนักขึ้นของกลุ่มมวลชน “ต่อต้านการแบน 3 สารพิษ” ที่มีนายสุกรรณ์ สังขวรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เป็นหัวหอก พ่วงตัวแทนกลุ่มเกษตรปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ที่บุกไปยืนยันกับนายกฯ ว่าเกษตรกรเดือดร้อนหนักมากและจะเสียหายเป็นหมื่นล้านบาทหากมีการแบนสารพารา-ควอต เช่นเดียวกับ น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ที่เดินหน้าฟ้องศาลปกครองทันทีที่รัฐมีมติห้ามใช้ทั้ง 3 สารฯ พร้อมกับการปูดข้อมูลเชิงลับว่อนโลกออนไลน์ของผู้ถือหางฝั่งต้านการแบนสารพิษ ถึงเหตุที่รีบร้อนแบนสารเคมีทั้ง 3 เพราะมี “ไอ้โม่ง” รอรับผลประโยชน์แบบเนื้อๆเน้นๆ ทั้งแนวทางและสารทดแทน

...

แต่มติคณะกรรมการฯ วันที่ 22 ตุลาคม 62 ที่ให้ปรับวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 62 เป็นต้นไป ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะในวันที่ 27 พฤศจิกายน คณะกรรมการวัตถุอันตราย ชุดใหม่ ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน แถลงผลการประชุมนัดแรก กลับมติเดิมจากแบนทั้ง 3 สารพิษ มาเป็นเลื่อนแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ออกไปอีก 6 เดือน คือเป็น 1 มิถุนายน 63 ส่วน “ไกลโฟเซต” ให้ใช้ตามมติคณะกรรมการฯ 23 พฤษภาคม 61 ที่จำกัดการใช้ ไม่ใช่แบนถาวร

ก็ไม่รู้จะเป็นการดับฝันใครบ้าง แต่กับคนที่อยากเห็นผืนดินเปื้อนสารพิษน้อยลง คงได้แต่มองตาปริบๆ รอวัดใจผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ จะเห็นสิ่งใดสำคัญกว่ากันระหว่าง “สุขภาพของประชาชน” กับ “ผลประโยชน์” ของบางกลุ่มทุน!!