มาว่ากันต่อเรื่องเล่าสู่กันฟังจากศรีลังกา โดย Prof. Buddhi Marambe นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศศรีลังกา ในเวทีเสวนา “ทางออกที่ยั่งยืนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” จัดโดย สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย

ศรีลังกาใช้พาราควอตมานานร่วม 53 ปี รัฐบาลประกาศแบนในปี 2557 ด้วยเหตุผลนำไปใช้ผิดประเภท เอาสารกำจัดวัชพืชกินฆ่าตัวตายปีละ 400-500 คน...ปีถัดมาแบนไกลโฟเซต เพราะสถาบันการวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) จัดให้เป็นสารอยู่ใน กลุ่ม 2A

ทั้งที่เป็นกลุ่มสงสัยว่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ พอๆกับการใช้โทรศัพท์มือถือ กินกาแฟ กินเบคอน ทำงานในร้านเสริมสวย

แบนไกลโฟเซตไปได้แค่ 3 ปี...พฤษภาคม 2561 รัฐบาลศรีลังกาต้องประกาศยกเลิก

สาเหตุเพราะทำธุรกิจใบชาเสียหายหนัก ไม่มีแรงงานมากำจัดวัชพืช ผลผลิตตกต่ำเพราะวัชพืชที่งอกขึ้นมาแย่งอาหารจากต้นชา

ไม่มีสารกำจัดวัชพืช แปลงปลูกมีหญ้าขึ้นรก เกษตรกรถูกงูกัดตายปีละ 400 กว่าคน

ต้นทุนกำจัดวัชพืชในแปลงข้าวโพดเพิ่มขึ้น 39% ในนาเพิ่มขึ้น 1.29-4.58% และมีการลักลอบนำไกลโฟเซตเข้าไปขายให้เกษตรกรในศรีลังกา ในราคาที่สูงกว่าเดิม 300-350%

ที่สำคัญสุดๆ ชาพืชเศรษฐกิจสำคัญของศรีลังกาส่งไปขายที่อังกฤษ มีปัญหาถูกตีกลับ เพราะอังกฤษตรวจพบการปนเปื้อน
ไกลโฟเซต...ตรงนี้แหละปัญหาใหญ่ที่เราอาจต้องเจอในอนาคต

อังกฤษไม่ได้แบนไกลโฟเซต แต่เมื่อศรีลังกาประกาศแบน...สินค้าเกษตรทุกชนิดที่ออกจากศรีลังกาต้องไม่มีไกลโฟเซตปนเปื้อนเลย

ไทยเรามีความพร้อมที่จะรับชะตากรรมกระแสปั่นหัวให้คนกลัวเกินเหตุหรือไม่

...

แม้ตอนนี้รัฐบาลศรีลังกาได้ประกาศว่า ปี 2565 จะพิจารณายกเลิกไกลโฟเซตอีกครั้ง...แต่อยู่บนเงื่อนไข ต้องหาวิธีกำจัดวัชพืชทดแทนให้ได้เสียก่อนเท่านั้น.

สะ–เล–เต

อ่านข่าวเพิ่มเติม