วันนี้...หลายๆพื้นที่ในหลายจังหวัดประสบภาวะน้ำท่วมหนักสาหัส บางจังหวัดอย่างอุบลราชธานีคาดกันว่ากว่าน้ำจะลดลงเป็นปกติอาจต้องใช้เวลานานนับเดือนเลยทีเดียว
ทั้งๆที่ย้อนไปสามสี่อาทิตย์ที่แล้วจะเห็นว่า “วิกฤติประเทศไทย” คือ “ภัยแล้ง” ต้องวางยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำให้พอกินพอใช้และเหลือให้ภาคการเกษตรบ้าง
แต่มาวันนี้...ต้องแก้ปัญหาเอาน้ำออกจากบ้าน ออกจากสวนไร่นา ธรรมชาติที่ปรวนแปรคือปัญหาที่ไม่มีใครคาดเดาได้ เป็นสิ่งที่ “ใคร” หรือ “รัฐบาล” ก็ตามปฏิเสธไม่ได้ มีเพียงหน้าที่เข้าไปแก้ปัญหา คลี่คลาย?
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดมุมมองในฐานะประธานพิธีเปิดโครงการ “การสร้างการรับรู้นโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลผ่านสถาบันเกษตรกร” และปาฐกถาพิเศษ “ภาพรวมนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาล” ที่อิมแพค เมืองทองธานี เมื่อไม่นานมานี้
ย้ำว่า...รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร รวมถึงการพัฒนาภาคการเกษตร อาทิ การรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรและรายได้ให้กับเกษตรกร ในสินค้าเกษตรที่สำคัญ
ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อย และข้าวโพด
ยุทธศาสตร์ที่วางไว้มีเครื่องมือและมาตรการที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ จัดให้มีระบบการประกันภัยสินค้า การพัฒนาระบบตลาดที่เชื่อมโยงผลการผลิตของเกษตรกรถึงผู้ประกอบการแปรรูปและผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม นับรวมไปถึงการใช้เทคโนโลยี เครื่องมือในการขยายและเข้าถึงตลาดในรูปแบบต่างๆ
การอำนวยความสะดวกทางการค้า การพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตรที่มีประสิทธิภาพ การลดต้นทุน...เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่เหมาะสม การพัฒนาองค์กรเกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่
...
เรียกได้ว่าเป็นการ “ติดอาวุธเกษตรกร” ด้วยการเพิ่มทักษะการประกอบการและพัฒนาความเชื่อมโยงของกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ในทุกระดับ
หนึ่งในตัวอย่างระบบ “สหกรณ์สร้างชาติ” เกษตรกรมือใหม่หลายต่อหลายคนเริ่มต้นด้วยการปลูกกล้วยช่วยปรับสภาพดิน ทั้งยังเป็นพืชที่ปลูกง่ายไม่ต้องดูแลมาก แต่สำหรับ สมปอง นาคทิพวรรณ “กล้วย”...คือพืชที่ชุบชีวิตให้เขาและครอบครัว เขาเล่าว่า การปลูกกล้วยหอม สหกรณ์ประกันราคาให้ไม่เสี่ยง เราขายได้
“ถ้าสหกรณ์ไม่ประกันราคาให้ เราขายเองก็ขายยาก จะเสียหายเยอะ” สมปอง ว่า “มันก็ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะเลยนะ ตอนนี้ลูกก็เรียนจบ ส่งลูกเรียบจบได้เพราะกล้วยหอมแปลงแรก ได้เยอะทีเดียว”
กล้วยแห่งความหวัง...กว่าที่จะพบเส้นทางความมั่นคงในอาชีพแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย หากแต่เขากับภรรยาผ่านร้อนหนาวบนเส้นทาง “เกษตรกร” มาไม่ใช่น้อยๆ ที่ดินการทำเกษตรไม่มีเป็นของตัวเองที่มีอยู่ก็แค่อาศัยปลูกบ้าน ที่ทำอยู่ทุกวันนี้มีแค่ที่เช่า ครั้งแรกเลยเช่าไว้ 1 ไร่เอามาปลูกผัก ก็พออยู่ได้ไปวันๆ
สำคัญคือ พืชผักที่ปลูกทั้งกินและขาย ราคาก็มากน้อยตามกลไกตลาด หนำซ้ำเวลาหนอนลงก็จะใช้ยาแรงมาก ยาเบาๆเอาไม่อยู่ เป็นสารเคมี ด้วยความขยัน มุมานะ มีความอดทนเป็นที่ตั้ง ก็ต้องเดินหน้ากันต่อไป
แต่บางครั้งก็เลี่ยงสถานการณ์ที่บีบรัดไม่ได้ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องใช้ “เงิน” ก้าวต่อไปบนเส้นทางเดิมๆคงไม่ใช่คำตอบ...เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องคิดๆๆแล้วก็คิด โดยเฉพาะจังหวะที่ลูกเรียนจบ ม.6 จะเข้ามหาวิทยาลัย ปราณีย์ ภรรยาสมปองเล่าให้ฟังว่า เริ่มคิดหนัก รายได้เข้ามาแบบชักหน้าไม่ถึงหลัง จ่ายค่าเทอม...ค่าหอลูก ไม่พอก็ต้องไปหยิบยืมเขามาก่อนรายได้ไม่พอใช้แล้ว ฝืดเคือง พยายามหาทางออกที่ดีกว่าเดิม

ทดลอง...หันกลับมาปลูกกล้วย 1 แปลง...ฟ้าหลังฝนยังคงงดงามเสมอ “สหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด” ส่งเสริมเกษตรกรสมาชิกปลูกกล้วยหอมทองส่งขายประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2539
“การประกันราคารับซื้อ”...ที่สูงกว่าท้องตลาดคือสิ่งที่สำคัญอันดับแรกที่ดึงดูดความสนใจของสมปองให้หันมาปลูกกล้วยจริงจังเช่นเดียวกับสมาชิกคนอื่นๆ
หัวใจสำคัญ เกษตรกรไทยลืมตาอ้าปากได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่ว่ายิ่งทำยิ่งจนยิ่งมีแต่หนี้สิน ความเข้มแข็งของเครือข่ายกลุ่มก้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ระบบสหกรณ์” จะเป็นรากฐานหนึ่งที่อยู่คู่ประเทศไทยของเรา...ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่สำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกอย่าง แต่ส่วนใหญ่สหกรณ์การเกษตรทุกระดับทุกประเภท ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี มีธรรมาภิบาล มีการตรวจสอบดูแลเอาใจใส่จากภาครัฐ เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จได้
ฝากข่าวไปถึง...พี่น้องเกษตรกร สมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศ รัฐบาลห่วงใยพี่น้อง ห่วงใยในความขาดแคลนที่เกิดขึ้น จะพยายามที่จะประคับประคองอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
...
นอกจากนี้ยังพุ่งเป้า...เน้นย้ำไปที่ด้าน “การตลาด”...การค้า “ออนไลน์”...ระบบ “บัญชี” เพื่อขยายฐานการผลิต...ฐานการตลาดของสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง มีความสามารถในการแข่งขัน
พร้อมๆไปกับการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร เพื่อยกระดับรายได้...คุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร นับรวมไปถึงการดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในที่ดินทํากิน...
แหล่งเงินทุน โครงสร้างพื้นฐาน ปัจจัยการผลิตต่างๆ การส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าเป็นพืชเศรษฐกิจ การส่งเสริมการทําปศุสัตว์ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น การฟื้นฟู...สนับสนุนอาชีพการทําประมงให้เกิดความยั่งยืน
ดร.เฉลิมชัย บอกอีกว่า จากนโยบายที่ว่านี้ รัฐบาลได้อนุมัติมาตรการต่างๆออกมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่...การประกันรายได้เกษตรกร ในสินค้าเกษตรที่สำคัญคือ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว
ในส่วนของยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว สำหรับการพัฒนาระบบการตลาด ลดต้นทุน...เพิ่มรายได้ ก็มุ่งเป้าผลักดันการส่งออก...ข้าว มันสำปะหลัง ยางฯ ปาล์มฯ และอื่นๆ
มาตรการการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ในปีการผลิต 2562/63 สำหรับชาวนาผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 862,176 ครัวเรือนทั่วประเทศ
รัฐบาลประกาศประกันราคาข้าว 5 ประเภท คือ...ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อส่งเสริมการปลูกพืชระยะสั้น โดยจะแจกเมล็ดพันธุ์ฟรี การส่งเสริมให้เลี้ยงโคขุน โดยจะมีวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรกู้ไปลงทุน และจัดงบประมาณชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส.
...
ที่สำคัญคือ...เร่งดำเนินการมาตรการต่างๆเพื่อช่วยเหลือภาคการเกษตรที่ประสบภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ อาทิ การบรรเทาค่าครองชีพให้กับเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง และการบรรเทาความเสียหายจากอิทธิพลพายุโพดุล
อุ่นหัวใจในแผ่นดินไทย...ฝากความหวังจากรุ่นสู่รุ่นยังลูกๆหลานๆ คนรุ่นใหม่เข้าสู่แวดวงเกษตรกร อาจแปรเปลี่ยนรูปแบบเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เจ้าของธุรกิจการเกษตร ธุรกิจเอสเอ็มอีถึงแม้จะเล็กแต่ก็มีศักยภาพ...
ด้วย “นวัตกรรม” ที่มีบวกกับ “เทคโนโลยี” ต่างๆที่เกิดขึ้นได้ในวันนี้ เชื่อมั่นได้ว่า...ถ้าเราให้ความสำคัญจะเป็นการ “ปฏิรูปเกษตรกร...ปฏิรูปเกษตรกรรม” ครั้งใหญ่ที่สุด.