หลายจังหวัดในภาคอีสานและเหนือน้ำยังท่วม ที่สวนสัตว์อุบลฯ เร่งอพยพสัตว์ นํ้าหนุนสูง ส่วนชาวบ้านที่ อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด หนีน้ำมาพักอยู่บนพนังกั้นน้ำชีวิตอยู่อย่างลำบาก ที่พิษณุโลกและพิจิตรยังอ่วม ขณะที่นายกฯแจงมาตรการช่วยน้ำท่วม “อนุทิน” เตรียมรับมือโรคระบาด ส่วนกรุงไทยช่วยพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ย กรมอุตุฯแจ้งเตือนมรสุมถล่ม 28 จังหวัด

ชาวบ้านในภาคอีสานและภาคเหนือยังประสบภัยน้ำท่วมกันอยู่ หลายหน่วยงานระดมกำลังเข้าช่วยเหลือแจกจ่ายเครื่องอุปโภคและบริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมเร่งอพยพผู้ป่วย คนชราและเด็กออกจากพื้นที่น้ำท่วมสูงไปอยู่ในที่ปลอดภัย และวางมาตรการหลังน้ำลดหวั่นเกิดโรคระบาด

ชาวบ้านเครียดเร่งขนของหนีน้ำ

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่ จ.อุบลราชธานี สถานการณ์แม่น้ำมูลที่ปรับตัวสูงต่อเนื่อง ทำให้ชาวชุมชนริมแม่น้ำมูลที่วัดบูรพา ต.ในเมือง อ.เมือง ต้องขนย้ายข้าวของขึ้นมาอาศัยอยู่ริมถนนสะพาน 100 ปี พระศรีนครินทร์ แม่น้ำมูลล้นตลิ่งกว่า 3 เมตร ด้าน ร.ต.บรรพต กุลเกลี้ยง อายุ 65 ปี หัวหน้าชุมชนวัดบูรพากล่าวว่า ระดับน้ำที่ท่วมสูงของปีนี้ระดับใกล้เคียงกับปี 2545 มีระดับน้ำสูง 10.77 ซม. ทำให้ชาวบ้านเริ่มเครียดต้องขนของหนีน้ำ และยังมีปัญหาต้องรอคิวเรือที่เทศบาลนครอุบลราชธานีมาช่วยขนของออกจากบ้านน้ำท่วม ชาวบ้านเริ่มป่วยเป็นโรคน้ำกัดเท้า ขณะที่ถนนเลี่ยงเมืองน้ำท่วมสูง เจ้าหน้าที่ต้องปิดการจราจร และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำออก

...

น้ำท่วมสวนสัตว์อุบลฯเร่งย้ายสัตว์

ส่วนที่สวนสัตว์อุบลราชธานี น้ำท่วมสูงถึงหน้าอก รถไม่สามารถวิ่งผ่านได้ เจ้าหน้าที่อพยพนกคลาสโซวารี 2 ตัว และนกอีมู 6 ตัว ที่คอกอยู่ใกล้กับลำห้วยแจระแมย้ายไปอยู่ในที่ปลอดภัย โดยเฉพาะทางเข้าสวนสัตว์นํ้าท่วมสูงถึงหน้าอก รถทุกชนิดไม่สามารถวิ่งผ่านได้ แต่ยังเปิดให้บริการตามปกติ นักท่องเที่ยวต้องเดินทางอ้อมเข้ามาทางสวนพฤกษศาสตร์ดงฟ้าห่วน มีเส้นทางทะลุเข้ามายังสวนสัตว์อุบลราชธานี ขณะที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 22 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี นำรถบรรทุกยกสูงให้บริการประชาชนและเด็กนักเรียนเดินทางไปทำงานและเรียนหนังสือ ระหว่าง อ.เมืองอุบลราชธานี กับ อ.วารินชำราบ หลังแม่น้ำมูล ที่สะพานเสรีประชาธิปไตยมีระดับน้ำสูงขึ้น

หนีไปอาศัยอยู่บนพนังกั้นน้ำ

ส่วนชาวบ้านโนนยาง บ้านโนนราษี และบ้านดอนแก้ว ต.บึงงาม อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด น้ำท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ชาวบ้านต้องอพยพมาอาศัยอยู่บนพนังกั้นน้ำลำน้ำชี ชีวิตอยู่อย่างลำบาก ต้องอยู่ในสภาพติดเกาะ น้ำใช้ไม่เพียงพอ ไม่มีไฟฟ้า ช่วงกลางคืนต้องใช้ไฟฉายและเทียนส่องสว่าง และต้องระวังสัตว์มีพิษที่มาทางน้ำ สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมมีรายงานว่า ระดับน้ำในสถานีวัดน้ำแม่น้ำชี จ.ร้อยเอ็ด ทั้ง 3 แห่ง ลดลงโดยเฉลี่ย 0.09 เมตร และมีแนวโน้มจะลดลงอีก น้ำในลำน้ำยังที่สถานีสูบน้ำบ้านท่างาม ต.วังหลวง อ.เสลภูมิ ลดลง 0.19 เมตร และมีแนวโน้มลดลงเหมือนกัน

ระดับแม่น้ำชีเริ่มลดลง

จ.กาฬสินธุ์ ระดับแม่น้ำชี ในพื้นที่ อ.ฆ้องชัย มีรายงานว่า ฝายวังยางระดับน้ำชีลดลง 21 ซม. เจ้าหน้าที่เปิดประตูระบายน้ำทั้ง 6 บาน เพื่อให้มีน้ำไหลผ่านสะดวก ปัจจุบันระดับน้ำยังอยู่ในสภาวะวิกฤติ ด้านนายพัฒนะ พลศรี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 (เขื่อนวังยาง) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่มีฝนตกลงมา ทำให้น้ำที่ไหลมาจาก จ.มหาสารคาม ไหลผ่านพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ยังเฝ้าระวังตามจุดเสี่ยง ส่วนพื้นที่ที่อยู่ติดแม่น้ำชีเริ่มคลี่คลายลง หากไม่มีฝนตกลงมาอีก จะทำให้สถานการณ์กลับสู่ ภาวะปกติภายในสัปดาห์นี้

หน่วยซีลดำน้ำเปิดประตูระบาย

นายกนก ศรีวิชัยนันท์ นายอำเภอเมืองมุกดาหาร น.ท.อดิศักดิ์ ภานุโรจนากร หัวหน้าสถานีเรือมุกดาหาร พร้อมด้วยนายกเทศมนตรีตำบลคำอาฮวน กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่ ต. คำอาฮวน ช่วยเหลือเกษตรกรน้ำท่วมที่นา พร้อมประสานขอกำลังเจ้าหน้าที่หน่วยซีล (นรข.เขตนครพนม) มาช่วยดำน้ำ เพื่อเปิดประตูระบายน้ำหนองคำยาว หมู่ 15 ต.คำอาฮวน เพื่อพร่องน้ำท่วมถนนและไร่นาเกษตรกรกว่า 100 ไร่ ทั้งนี้ในห้วงสถานการณ์พายุโพดุล น้ำในหนองคำยาวเอ่อล้นท่วมถนนและนาข้าว เนื่องจากบานประตูน้ำที่อยู่ลึกกว่า 6 เมตรชำรุด ชาวบ้านไม่สามารถดำเนินการได้ แจ้งร้องขอไปยัง อ.เมืองมุกดาหารช่วยซ่อมแซม

...

รวมใจซ่อมพนังกั้นน้ำเสร็จแล้ว

ด้านนายบุญเหลือ บารมี นายอำเภอบางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ระดมกำลังหน่วยงานราชการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ ปภ.เขต 9 ผู้นำชุมชนผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้าน ต.เนินกุ่ม อ.บางกระทุ่ม รวม 100 คน นำท่อนไม้ตอกทำเป็นเสาหลัก เพื่อวางกระสอบทรายทำพนังกั้นน้ำคลองเนินกุ่มตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย. กระทั่งแล้วเสร็จในวันที่ 10 ก.ย. ภายหลังพนังกั้นน้ำแตกเป็นครั้งที่ 3 ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือน และพื้นที่การเกษตรเสียหายนับหมื่นไร่ ด้าน น.อ.กฤษณ์ เกตุรักษ์ ผู้บังคับ การกองบิน 46 ในฐานะ ผอ.ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองบิน 46 เปิดเผยว่า จัดกำลังพลทหารจิตอาสาลงพื้นที่ ต.เนินกุ่ม ช่วยชาวบ้านทำความสะอาดบ้านเรือน รวมทั้งพื้นที่ส่วนราชการ และพื้นที่สาธารณะ

ตร.จัดกำลังช่วยเหยื่ออุทกภัย

ที่ ศปก.ตร. พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. และโฆษก ตร.เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในภาพรวมของประเทศขณะนี้ อันเนื่องมาจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “โพดุล” และ “คาจิกิ” ทำให้ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ประกอบด้วย พิษณุโลก พิจิตร อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. สั่งการให้หน่วยงานตำรวจทุกหน่วย จัดชุดเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่เป็นการเร่งด่วน นอกจากนี้ ในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ ยโสธร และอุบลราชธานี มีการจัดสถานที่รองรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเข้าพักอาศัยเป็นการชั่วคราว เช่น วัดพระศรีเจริญ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ 158 คน วัดบ้านท่าเยี่ยม ต.ค้อเหนือ อ.เมืองยโสธร 44 คน และองค์การบริหารส่วนตำบลนางเลิง อ.ดอนมดแดง จ.อุบลราชธานี 90 คน สำหรับพี่น้องประชาชนที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือ ติดต่อที่โทรศัพท์สายด่วน หมายเลข 191 หรือ 1599 หรือทางแอปพลิเคชัน Police I lert u ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

...

น้ำป่าเขาใหญ่ทะลักเข้าชุมชน

ด้านนายพรเทพ ไกรสิงห์ กำนันตำบลโพธิ์งามและผู้ใหญ่บ้านในเขต อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ประกาศเสียงตามสายให้ประชาชนในพื้นที่ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง เนื่องจากมีน้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไหลหลากเข้าท่วมหมู่บ้านริมคลองหมู่ 6, 7 และ 10 ต.บุฝ้าย และมวลน้ำไหลหลากเข้าในหมู่บ้านและวัดระดับน้ำสูงถึงหัวเข่า ขณะเดียวกันมวลน้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่หมู่ 7, 8 และ 11 ต.โพธิ์งาม และหมู่ 7, 8 และ 11 ต.หนองแก้ว รวมทั้งสิ้น 120 หมู่บ้าน ทหารจาก มทบ.12 เจ้าหน้าที่กู้ภัยและจิตอาสาลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือประชาชนขนย้ายทรัพย์สินไปไว้บนที่สูง

...

อยุธยาเตรียมรับมวลน้ำเหนือ

ขณะที่นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงานชลประทานที่ 12 แจ้งว่า ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจะควบคุมในเกณฑ์ระหว่าง 900-1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลให้ระดับน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30-0.80 เมตร ในพื้นที่ ต.บางกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา และ ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ ปภ.ประสานพื้นที่เสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น รวมถึงแม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรี คลองชัยนาท-ป่าสัก และคลองชัยนาท-อยุธยา รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยน้ำท่วมในช่วงดังกล่าว

อุตุฯเตือนฝนถล่ม 28 จังหวัด

กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายสภาพอากาศว่า ช่วงวันที่ 11-12 ก.ย.62 ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กลับมามีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมกลับมาพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ประเทศ ไทยตอนบนรวม ทั้งภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน ลำปาง ตาก กำแพงเพชร กาญจนบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี เลย นครราชสีมา ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม สกลนคร อุบลราชธานี สุรินทร์ บุรีรัมย์ ตราด จันทบุรี สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร ช่วงวันที่ 13-16 ก.ย. ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

นายกฯแจงมาตรการช่วยน้ำท่วม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการตั้งวอร์รูมน้ำว่า อะไรที่เป็นภัยพิบัติทุกเรื่องรัฐบาลมีกรรมการในระดับนายกฯ เป็นประธาน รองลงมาข้างล่างระดับพื้นที่มีกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน และมีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และหน่วยงานเกี่ยวข้องต่างๆ เป็นระดับขึ้นมา มีหน้าที่กำหนดนโยบายติดตามแก้ปัญหา พร้อมหามาตรการใหม่ๆ แผนงานโครงการ งบประมาณสนับสนุน ขณะนี้ประธานเรื่องการบริหารจัดการน้ำคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ประชุมกันประจำที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ตีกรอบบูรณาการจัดทำแผนแม่บท 23 ลุ่มน้ำ ทุกอย่างต้องทำเป็นระบบตามแผน ดำเนินการ 5 ปีต่อเนื่องกิจกรรมเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า แต่ละปีเสียเงินเยียวยาทุกปี ปีละ 3-4 หมื่นล้านบาท แต่วันนี้ลดลงมาเหลือ 1 หมื่นล้านบาท

“เฉลิมชัย”สำรวจการเกษตรเสียหาย

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รับรายงานจากอธิบดีกรมชลประทานจังหวัด ที่ประสบอุทกภัยจากพายุโพดุลและคาจิกิรวม 27 จังหวัด ขณะนี้ยังมีพื้นที่น้ำท่วม 12 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ สกลนคร นครพนม และศรีสะเกษ ส่วนที่สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ 15 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แพร่ น่าน ลำปาง อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน สุโขทัย เพชรบูรณ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มุกดาหาร สระแก้ว ชุมพร และระนอง สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความเสียหายของพื้นที่เกษตรทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง เพื่อเร่งช่วยเหลือต่อไป

เตรียมรับมือโรคระบาดหลังน้ำลด

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือโรคระบาดที่มาจากน้ำท่วมว่า สาธารณสุขจังหวัดต้องเตรียมเรื่องเวชภัณฑ์ ตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว รวมถึงการเตรียมพร้อมสถานพยาบาล หรือสิ่งของที่จะนำไปช่วยเหลือผู้ป่วย และมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่ด้วย เพื่อไม่ให้เสียขวัญ ยอมรับว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่หนัก เพราะเมื่อน้ำเริ่มจะลดก็มีพายุลูกใหม่เข้ามาซ้ำอีก แต่ยืนยันว่า ยารักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคที่มาทางน้ำ มีการเตรียมพร้อมอย่างดี แต่สิ่งที่ต้องทำคือช่วงหลังน้ำลดการฟักตัวของเชื้อโรคจะแสดงอาการออกมากับผู้ที่ติดเชื้อ

อนุมัติ 261 ล้านบาทช่วยภาคเหนือ

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า นายกฯสั่งการให้ สทนช.ไปศึกษาร่วมกับหน่วยงานน้ำรวมถึงแผนการทำแก้มลิง อาจจะทำบนพื้นที่ของประชาชนที่ท่วมซ้ำซาก แต่ต้องมีการเยียวยาให้อาจจะเป็นค่าเช่าพื้นที่ หรือปรับเปลี่ยนอาชีพให้มี รายได้ใกล้เคียงกับที่เคยได้รับหรือมากกว่า ทั้งนี้ในช่วงเช้าวันที่ 12 ก.ย. จะมีการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติงบกลางปี 2562 วงเงิน 261 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ จ.กำแพงเพชร เชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ลำปาง สุโขทัย และอุตรดิตถ์ โดยมีโครงการที่พร้อมดำเนินการทั้งสิ้น 78 โครงการ สามารถเพิ่มแหล่งเก็บกักได้ 2.8 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ได้รับประโยชน์ 41,100 ไร่ สามารถลดผลกระทบได้ 17,328 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 34,300 ครัวเรือน จะสามารถบรรเทาปัญหาในพื้นที่ภาคเหนือระยะเร่งด่วน 1-2 เดือนนี้

กรุงไทยพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย

นางอรนุช ศิรประภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารเล็งเห็นถึงความเดือดร้อนผู้ประสบภัย ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้า สำหรับลูกค้าสินเชื่อบุคคล โดยพักชำระหนี้นาน 3 เดือน และพักชำระดอกเบี้ยอีก 3 เดือน ในเดือนที่ 4-6 ลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ Home For Cash ธนาคารไม่คิดดอกเบี้ยนาน 3 เดือน และปรับลดลงอีก 0.25% ในเดือนที่ 4-12 ส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่สถานประกอบการได้รับผลกระทบหรือคู่ค้า แหล่งวัตถุดิบ แรงงานอยู่ในพื้นที่ประสบภัย ลดดอกเบี้ยลงสูงสุด 1% ต่อปี เป็นเวลา 12 เดือน รวมทั้งพักชำระเงินต้น หรือขยายระยะเวลาสัญญาออกไปสูงสุด 12 เดือน ตลอดจนสนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพิ่มเพื่อฟื้นฟูปรับปรุงซ่อมแซม ซื้อสินทรัพย์ถาวรและวัตถุดิบ โดยให้วงเงินกู้เพิ่มสูงสุด 2 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้นปีแรก 4% ต่อปี