พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ฉบับแก้ไขใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้ 29 ธ.ค. 62...มาตรา 14 ระบุให้ผู้เลี้ยงรังนกบ้านสามารถไปยื่นขอใบอนุญาตเก็บและครอบครองรังนกบ้าน หรือรังนกคอนโดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

แม้ว่ากฎหมายใหม่จะไฟเขียวให้แล้วก็ตาม แต่เป็นเพียงกฎหมายฉบับเดียวที่อนุญาตให้เก็บรังนกที่เลี้ยงตามบ้านมาขายได้ แต่ยังมีกฎหมายอีก 3 ฉบับ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522, พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2561 และ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 ที่ควบคุมการสร้างบ้านรังนกแอ่นกินรังอย่างถูกต้อง ปลอดภัย ไม่ก่อมลพิษรบกวนชาวชุมชนโดยรอบ และไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“เมื่อ 20 ปีก่อน ประเทศมาเลเซียได้ออกนโยบายให้สร้างรังนกแอ่นกินรังตามบ้านขึ้น พร้อมกับสนับสนุนให้มีการเพาะเลี้ยงนกแอ่นกินรังตามมาตรฐาน GAP โดยมี FAO ให้การรับรอง ทำให้มาเลเซียโกยรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 60,000 ล้านบาท จากการส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศจีน และอีกหลายประเทศทั่วโลก”

ส่วนในประเทศไทย ผศ.ดร.นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์ ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) บอกว่า การทำรังนกสัมปทานตามถ้ำ ตามเกาะแก่ง ถือว่าถูกต้องตามกฎหมายมานานแล้ว

...

สำหรับรังนกแอ่นกินรังจากบ้าน ยังถือว่าผิดกฎหมาย จึงไม่สามารถส่งออกรวมทั้งแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆได้...ผลผลิตรังนกแอ่นกินรังจากบ้าน จึงถูกแอบส่งขายแบบลับๆเป็นรังดิบๆปะปนไปกับรังนกถ้ำ

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จัดทำโครงการวิจัยการศึกษาเพื่อกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสําหรับบ้านนกแอ่นกินรัง... กำหนดแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดการบ้านนกแอ่นกินรัง ตามข้อกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร

โดยนำมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสําหรับบ้านนกแอ่นกินรังของประเทศมาเลเซียที่ทำ GAP สำเร็จ มาพัฒนาประยุกต์ให้ทันสมัยและเหมาะสมสำหรับประเทศไทย

โครงการนี้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2559 ที่บริเวณสถานีวิจัยและฝึกนิสิต หาดวนกร อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ สร้างอาคารตามแบบมาตรฐาน เป็นอาคารซีเมนต์สูง 4 ชั้น มีช่องลมระบายอากาศ ช่องเข้าออกของนก ภายในตกแต่งด้วยไม้ วางทำมุมหักเหลี่ยมให้เหมือนธรรมชาติ โดยกำหนดพื้นที่ให้ห่างจากบ้านเรือนประชาชน ชุมชน อย่างน้อย 1 กม. มีแหล่งน้ำและแหล่งอาหารให้กับนกแอ่นกินรัง

พร้อมติดตั้งระบบ ทั้งการใช้เปิดลำโพงเสียงเรียกนกให้เข้ามาอยู่อาศัย เพื่อศึกษาอิทธิพลของเสียงบันทึกเรียกนกต่อการดึงดูดนกแอ่นและพฤติกรรมการตอบสนอง ศึกษาการปลูกพืชคลุมดิน โดยรอบอาคารควรปลูกพืชชนิดใดที่นกชอบ ศึกษาพฤติกรรมของนกแอ่นเมื่อเข้ามาอยู่อาศัยในอาคาร การควบคุมสภาพแวดล้อมระบบความชื้นสัมพัทธ์ที่นกควรจะอยู่ได้ และการติดตามการเปลี่ยนแปลงจำนวนของนกที่เข้ามาใช้อาคารทดลองนี้...เพื่อนำปรับปรุงแก้ไขสภาพแวดล้อมภายในอาคารให้นกเข้ามาสร้างรังได้มากขึ้น

ภายนอกอาคาร บนหลังคาใช้ลวดหนามป้องกันนกเหยี่ยว นกล่าเหยื่อต่างๆ และตัดต้นไม้ให้ออกห่างจากตัวอาคารมากขึ้น เพื่อไม่ให้นกแอ่นทำรังที่ต้นไม้แทนที่จะอยู่ในอาคาร รวมทั้งการตรวจหาเชื้อไข้หวัดนก วิธีการทำความสะอาด และวิธีการปฏิบัติต่อนกแอ่นที่เข้ามาอยู่อาศัยอย่างถูกต้อง

...

ผลปรากฏว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี อาคารทดลองหลังนี้มีนกแอ่นกินรังเข้ามาพักอาศัยอยู่ราวๆ 500–600 ตัว สร้างรังไว้ 60–100 รัง

ดร.นันทชัย บอกว่า ผลงานวิจัยนี้จะมีผลในทางปฏิบัติจริง ต่อเมื่อกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้คลอดกฎหมายลูกออกมาตามข้อบังคับให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปีแล้ว เราถึงจะสามารถไปยื่นจด GAP ให้ถูกต้องตามมาตรฐาน FAO ได้ทันที และจะสามารถนำไปถ่ายทอดความรู้ในการทำฟาร์มนกแอ่นกินรังให้แก่เกษตรกรได้ เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับนกแอ่นกินรังในประเทศได้อย่างแท้จริง.


ไชยรัตน์ ส้มฉุน