ทุกวันนี้ข่าวปลอม ปล่อยข่าวลือ แพร่สะพัดอยู่ตามเว็บไซต์มากมาย มีทั้งข่าวไม่มีมูลความจริง รวมถึงข่าวที่มีมูลความจริงเล็กน้อย “ตีไข่ใส่สีจนเกินความจริง” ปล่อยผ่านโลกโซเชียลฯ ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ รวมไปถึงอินสตาแกรม สร้างเครือข่ายกระจายบนสังคมออนไลน์ บิดเบือนความจริง ให้เกิดความสับสนของสังคม

“หวังโจมตีบุคคล กลุ่มองค์กร ดิสเครดิต” หรือหวังผลประโยชน์จากการปล่อยข่าว...

ในอดีต “ข่าวลือ” ไม่ว่า...เป็นเรื่องจริง เรื่องไม่จริง เป็นเพียงพูดกันปากต่อปาก ส่วน “ข่าวปลอม” เกิดจากความเข้าใจผิด ตีความไม่ถูกต้อง หรือใส่ความคิดเห็นมากกว่าข้อเท็จจริง แต่ไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อสังคม

เมื่อมาถึง ยุค 4.0 โลกโซเชียลฯ การติดต่อสื่อสารจากหนึ่งคน ไปยังคนจำนวนมากได้เร็ว “ข่าวปลอม ข่าวลือ” ก็มีหลากหลายรูปแบบเช่นกัน มีทั้งเนื้อหา รูปภาพ และปลอมเว็บไซต์ขึ้นมาเอง ที่เกิดจากความตั้งใจ เชิญชวนให้คนอื่นกดไลค์ ช่วยกันอัปเดตแชร์ต่อบนโลกออนไลน์ กระจายไปยังคนหมู่มากได้อย่างรวดเร็ว กลายเป็นกระแสสังคมแห่กันเข้าคลิกอ่าน และแชร์ต่อๆกันไปอีกอย่างไม่สิ้นสุดจนเกิดความสับสน

ไม่ใช่แค่เป็นปัญหาในประเทศไทยเท่านั้น ในต่างประเทศทั่วโลกต่างก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน กลายเป็นปัญหาระดับนานาชาติ ต้องให้ความสนใจ หาแนวทางแก้ไขเป็นการด่วน เพราะส่งผลเสียต่อสังคมและเศรษฐกิจ

ไม่นานมานี้...บ้านสมเด็จโพสต์ สำรวจเรื่อง “ข่าวปลอม” พบว่า มีประชาชนเคยเห็นข่าวปลอม ร้อยละ 85.1, เคยตรวจสอบข้อมูลที่คิดว่าเป็นข่าวปลอม ร้อยละ 65.8, ลักษณะข่าวที่ตั้งใจให้เกิดความเข้าใจผิดมากที่สุด ร้อยละ 31.3, ข่าวนำภาพปลอมที่ไม่เกี่ยวข้องมาประกอบร้อยละ 17.8

ข่าวที่มีการตัดต่อภาพ...ข้อมูลในข่าวที่ไม่มีความจริงใดๆ ร้อยละ 16.8, ข่าวปลอมแบบล้อเลียนขำขัน ร้อยละ 15.2 และข่าวนำคำพูดของบุคคลที่ไม่ได้พูดจริงมาอ้างถึง ร้อยละ 7.6

...

ข่าวปลอมพบมากผ่านสื่อเฟซบุ๊ก ร้อยละ 72.7 มีคนเล่าให้ฟังร้อยละ 10.3 ข่าวปลอมผ่านสื่อไลน์ ร้อยละ 8.8 และพบเห็นข่าวปลอมมีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการเมืองมากสุดถึงร้อยละ 28.2

รองลงมาเรื่องดารา...หลอกขายสินค้า...เรื่องสุขภาพ...เรื่องภัยพิบัติ และ...เรื่องศาสนา

ประเด็นน่าสนใจมีว่าคนส่วนใหญ่คิดว่าปัญหาข่าวปลอม เป็นปัญหาที่ควรมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และอยากให้ภาครัฐมีมาตรการป้องกันและปราบปรามข่าวปลอม

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ TARAD.COM บอกว่า ข่าวปลอม ปล่อยข่าวลือมีทุกรูปแบบ ใช้โลกออนไลน์เป็นศูนย์กลางในการเปิดให้แสดงความคิดเห็น สนทนาหลากหลายรูปแบบ และสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว...

“แทบไม่มีค่าใช้จ่ายสักบาท” มีทั้งสนับสนุนทางธุรกิจ โจมตีทางการเมือง ให้ร้ายบุคคลอื่น หรือปั่นกระแสให้เกิดความตื่นกลัว ในเรื่องไม่เป็นความจริง สร้างกระแสให้ “คลิกอ่าน” ส่งต่อข่าว ยิ่งมีคนติดตามคลิกอ่านมาก การส่งต่อข่าวปลอมยิ่งแพร่ระบาดไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ในช่วงนี้ข่าวลือ ข่าวปลอม “ยอดฮิต” คงหนีไม่พ้น...เรื่องการเมือง โดยเฉพาะในช่วงการเลือกตั้งใช้ “ข่าวปลอม” สร้างผลกระทบต่อพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม เริ่มจากบุคคลกลุ่มเล็กๆ สนใจเรื่องเดียวกัน เปิดห้องสนทนาแบบห้องปิดพูดคุยเรื่องการเมือง ในห้องปิดสนทนากันมากมายหลายเรื่อง บางครั้งพูดคุยโจมตีบุคคลทางการเมือง ด้วยการปลุกเร้าอารมณ์ ใส่ร้ายป้ายสี อันเป็นข้อมูลเท็จ...

เขียนด้วยความเร้าอารมณ์ ให้คนอ่านสนใจคล้อยตามข่าวนั้น กลายเป็นปลุกกระแสในโซเชียลฯ มีการแชร์ต่อไม่แพ้ข่าวจริง สร้างความสนใจให้คนที่มี “อคติ” เดิมอยู่แล้ว “จุดไฟอารมณ์” เลือกเชื่อในเรื่องที่ตัวเองอยากจะเชื่อ ถึงแม้จะมีข่าวจริง ตีแผ่ออกมา ก็ไม่สนใจเลย

จากนั้นบุคคลที่สร้างข่าวปลอมจะทำข่าวลือประกอบโฆษณาชวนเชื่อรูปแบบต่างๆตามมา เพื่อสร้างเครือข่าย มีผลประโยชน์ทางการเมือง ให้มวลชนสนใจคลิกอ่าน กลายเป็นกระแสสนับสนุน เรียกคะแนนนิยมให้ตัวเอง

ส่วน “ข่าวปลอม เชิงธุรกิจ” ส่วนใหญ่ใช้เป็นเครื่องมือทำตลาดของ “นักการตลาดดิจิทัลใต้ดิน” สร้างเว็บข่าวที่ไม่ได้มีตัวตน และปั้นข่าวขึ้นเพื่อปั่นยอดโฆษณาให้กับคนที่ชอบกดคลิกเข้าไปชมหรืออ่านข่าว มีผลให้คนรู้จักแบรนด์ที่ต้องการสร้างขึ้น...

มีเนื้อหาชอบใช้คำ หรือพาดหัวรุนแรงหวือหวา มีความเป็นดราม่าออกมา ช่วยสนับสนุนเรียกแขก “มือคีย์บอร์ด” เข้ามาสนใจอ่านแชร์เนื้อหา ชวนให้เกิดการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วในโลกออนไลน์ ให้คนเข้าใจผิด

“ข่าวลือ เชิงธุรกิจ” นิยมปั้นข่าว เขียนบทความข่าว เสมือนเกิดเหตุการณ์จริง โจมตีคู่แข่ง บิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลเพียงบางส่วน ทำให้คนเข้าใจผิดในตัวแบรนด์ หรือสินค้า...บางคนไม่ทันได้เข้าไปอ่านเนื้อข่าว หรืออ่านเพียงผ่านสายตา ยังจับประเด็นสาระสำคัญไม่ได้ด้วยซ้ำ ก็กดไลค์ หรือกดแชร์ข่าว สร้างความเข้าใจผิดให้กับบุคคลต่างๆ หรือสร้างความเข้าใจในสังคม ส่งผลร้ายแรงสร้างผลเสียองค์กร หรือสินค้าต่างๆ

หรือ...เว็บข่าวบางเว็บไม่ได้มีตัวตนด้วยซ้ำ ปั้นข่าวขึ้นมาต้องการปั่นยอดกดไลค์ กดแชร์ นับจำนวนยอดกดไลค์ กดแชร์ ยิ่งมีมากย่อมมีรายได้ทางอ้อมเข้ามามากเช่นกัน จากการลงโฆษณาของสินค้าที่ต้องการสร้างแบรนด์ นอกจากนี้ยังสามารถนำจำนวนกดไลค์ ไปขายต่อให้กับผู้ต้องการจำนวนยอดกดไลค์ได้อีกด้วย

ในโลกออนไลน์มีบุคคลหลากหลาย “เจเนอเรชัน” ติดตามข่าวสาร แต่กลุ่มที่เชื่อข่าวปลอม ข่าวลือ ในโลกออนไลน์มากที่สุด คือ “เจเบบี้บูมเมอร์” คนเกิดในปี 2489-2507 เป็นกลุ่มที่เริ่มมีอายุมากแล้ว ถูกหลอกมากกว่าเยาวชน หรือกลุ่มคน “เจเนอเรชัน วาย” เกิดปี 2523-2540 เพราะเจเบบี้บูมเมอร์ หากพบข่าวปลอม ข่าวลือ ถูกแชร์ออกมาจากกลุ่มเพื่อนๆ จะเชื่อทันที ไม่มีการวิเคราะห์ หรือตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวเลย

...

เพราะเข้าใจว่าข่าวลงเว็บไซต์ มีความน่าเชื่อถือ แต่ความเป็นจริง เว็บไซต์บางเว็บไซต์ ไม่มีความน่าเชื่อถือใดเลย ถูกสร้างขึ้นแบบง่ายๆ “ใช้เป็นเหยื่อตกเบ็ด” ให้คนเข้ามากดไลค์ กดแชร์ ยิ่งถูกส่งต่อมาจากคนมีชื่อเสียงในสังคม จะทำให้เนื้อข่าวเกิดความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น และมีการส่งต่อกันออกไปเป็นวงกว้างมากกว่าเดิม

ต่างจาก “เยาวชน หรือเจเนอเรชัน วาย” เกิดยุครับเอาความเจริญรุดหน้าทางเทคโนโลยี และอินเตอร์เน็ตเข้ามาแทรกอยู่ในการดำรงชีวิต เมื่อเห็นข้อมูลข่าวปลอม ข่าวลือ เขาจะรู้ทันทีว่าเป็นข้อมูลข่าวหลอก จะมีวิธีค้นหาแหล่งที่มาอย่างดีเยี่ยม แต่เด็กเยาวชน มักถูกหลอกในเรื่องของการคบหาความเป็นเพื่อน หรือคบหาแฟน...

นอกจากข่าวปลอม ปล่อยข่าวลือ แพร่สะพัดอยู่ตามเว็บไซต์อย่างมากมาย ยังมี “ล่าแม่มดในโลกออนไลน์” ที่น่ากลัวไม่แพ้ ข่าวปลอม ปล่อยข่าวลือ การล่าแม่มด เป็นการจู่โจมของคนมีความคิดต่างกัน นำเอาบุคคลนั้น มาประจานสาธารณะในโลกออนไลน์ โจมตีด้วยข้อมูลผิดๆ ด้วยการกล่าวหาโจมตี กลั่นแกล้ง สรรหาข้อมูลส่วนตัวต่างๆ มาทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ด่าด้วยข้อความหยาบคาย สร้างความรำคาญ

แต่...ในความจริงบุคคลที่ถูกโจมตี กลับไม่ได้ทำอะไรผิดเลย

สุดท้ายนี้ข่าวปลอม ข่าวลือ เป็นเสมือน “ซอมบี้” รอฟื้นคืนชีพบนโลกออนไลน์ได้ทุกเมื่อ หากอยากยุติ ต้องไม่สนับสนุน ไม่คลิกอ่าน ตรวจสอบแหล่งที่มาให้ชัด ก่อนกดไลค์ กดแชร์...