“ตระกูลเราทำฟาร์มเลี้ยงชะมดเช็ดมาร้อยปีแล้ว เลี้ยงเอาไว้เก็บไขชะมดที่ออกมาจากต่อมตรงโคนหาง ขายให้พ่อค้าทำยาสมุนไพร พวกทำยาหอม ยาลม ยาดม และมีพ่อค้าอีกกลุ่มส่งไปขายจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เอาไขชะมดเช็ดไปผสมทำเครื่องหอมและน้ำหอมกลับมาขายเรา”
ป้าน้อย หอมระรื่น เจ้าของฟาร์มชะมดเช็ด วัย 84 ปี ต.ทับคาง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี เล่าถึงที่มาของมรดกอาชีพที่พ่อแม่ส่งต่อให้ลูก 3 คน...แบ่งเท่าๆกันได้ชะมดเช็ดคนละ 10 ตัว

“ป้าอยากได้ไขชะมดเช็ดมากๆ เลยชวนเพื่อนๆไปจับชะมดจากป่าหญ้าคา กางตาข่ายส่งเสียงไล่เอาไม้ตีตามชายป่า เคาะดิน ชะมดเช็ดตื่นตกใจจะวิ่งออกมาจากที่ซ่อน ป้าจะใช้สุ่มวิ่งไล่ครอบ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายห้ามจับ หลังมีกฎหมายขึ้นบัญชีชะมดเช็ดเป็นสัตว์ป่าสงวน ไปจับตามป่าไม่ได้แล้ว แต่ทางการอนุญาตให้เลี้ยงได้เฉพาะกลุ่มเดิมๆที่เคยเลี้ยงเท่านั้น เราเลยต้องผสมพันธุ์ไว้เลี้ยงเอง ตอนนี้ที่บ้านเลยมีทั้งหมด 300 ตัว บอกได้เลยว่าที่นี่เป็นฟาร์มชะมดเช็ดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย”

...
โดยเลี้ยงในกรงทำจากไม้ไผ่ กรงเลี้ยง 1 ตัว จะมีขนาด 1×1 เมตร สูง 50 เซนติเมตร โดยยกพื้นให้สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร ด้านหน้าของกรงเป็นประตูยกขึ้นลงสำหรับเปิดให้อาหารและน้ำ ส่วนด้านบนเว้นช่องสำหรับเสียบไม้หลักด้านบนให้ชะมดเช็ดได้เช็ดไขน้ำมัน
ที่สำคัญการวางกรงจะสลับกรงตัวผู้ตัวเมีย เพื่อล่อให้ชะมดเช็ดไขช่วงกลางคืน เพราะเป็นช่วงที่ชะมดเช็ดจะหันบั้นท้ายส่ายก้นเช็ดไขตามโคนต้นไม้ กำแพง ส่งสัญญาณเกี้ยวพาราสีถึงเพศตรงข้ามทั้งคืนจนเช้า

ส่วนการเก็บไขชะมด ป้าน้อย บอกว่า ต้องใช้ “ไม้โมก” ปักไปในกรงเป็นหลักล่อ เพราะไขชะมดจะไม่ซึมเข้าเนื้อไม้ เก็บไขได้ง่าย ได้มาก เนื้อไม้ไม่ยุ่ยหลุด และสีไขชะมดยังเหลืองนวล ขายได้ราคาดี
ตกกิโลกรัมละ 200,000 บาท แต่กว่าจะได้ขนาดนี้ ต้องใช้เวลาเก็บนานนับเดือน และต้องเลี้ยงชะมดเช็ดมากถึง 300 ตัว
“ไขชะมดราคาดี ตลาดเครื่องหอมมีความต้องการมาก ถึงจะได้ราคาดี แต่การเลี้ยงไม่ง่าย ยุ่งยาก เสี่ยงถูกกัดถ้าผิดกลิ่น แถมต้นทุนสูง มื้อเช้าต้องให้กล้วยน้ำว้าสุกปลอดสารพิษตัวละ 1 ลูก ตัวที่อายุมากต้องเลี้ยงเสริมด้วยนมผงเด็กผสมไข่เป็ดสัปดาห์ละครั้ง มื้อเย็นให้ปลากับซี่โครงไก่บดนึ่งแล้วนำไปคั่วแห้งที่ไฟอ่อนให้หอม คลุกกับข้าวสวยตัวละ 1 ทัพพี และถ้าชะมดตัวไหนเบื่ออาหาร ไม่กินข้าวหรือป่วย เราต้องไปจับจิ้งจก จิ้งเหลน หรือลูกหนูนามาให้ชะมดกินอีกต่างหาก ถึงได้ชะมดอารมณ์ดี ขยันเช็ดไขให้เราไปขาย”

จากความยุ่งยาก เลี้ยงลำบาก ไขชะมดมีราคาดี และถูกขึ้นบัญชีเป็นสัตว์สงวน โอกาสในการเลี้ยงเชิงพาณิชย์ยากจะทำได้ เลยทำให้พ่อค้าหัวขี้ฉ้อทำไขชะมดเช็ดปลอมขึ้น
ราคาหลักแสนที่เคยมีเลยร่วงเหลือแค่ 60,000 บาท
“ปัญหานี้เพิ่งเกิดมาได้ 2-3 ปีมานี่เอง ตอนแรกยายคิดขายให้คนอื่นเพราะเลี้ยงไปก็ไม่คุ้ม แต่เรารู้สึกเสียดายอาชีพที่รุ่นทวดทำกันมาเลยคิดว่า ไขชะมดมันสามารถนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นได้อีก ไม่ใช่แค่ขายให้โรงงานผลิตยาสมุนไพรอย่างเดียว เลยขอยายทำต่อ”

...
นางพจนี มหรรณพ ผู้สืบทอดมรดกการเลี้ยงชะมดเช็ดรุ่นที่ 4 จึงค้นคว้าหาความรู้ ไปอบรมหลักสูตรการทำกาแฟไขชะมดจากมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน หวังให้มีผลิตภัณฑ์จากชะมดเช็ดขายให้นักท่องเที่ยว พร้อมยื่นโครงการขอกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร...มาเป็นทุน ผลิตกาแฟไขชะมด ราคา กก.ละ 3,000 บาท

“กาแฟไขชะมดของเรา ไม่ใช่กาแฟขี้ชะมดเหมือนที่หลายคนรู้จักกัน กาแฟขี้ชะมดที่ว่ากันนั้น จริงๆแล้วเป็นผลกาแฟที่อีเห็น (ไม่ใช่ ชะมด) กินแล้วถ่ายมูลออกมา ส่วนกาแฟไขชะมด ของเรา เป็นการนำเมล็ดกาแฟมาคั่วแล้วมาอบด้วยไขชะมด เพื่อเร่งกลิ่นกาแฟให้หอมกว่ากาแฟทั่วไป”
ด้วยความคิดรักในมรดกอาชีพในแบบกล้าที่จะเปลี่ยน นอกจากทายาทรุ่นที่ 4 ผู้นี้จะได้เก็บไขชะมดเช็ดขายเป็นเดือน...ยังมีรายได้จากกาแฟไขชะมด สบู่ ยาหม่อง น้ำหอม วันละ 3,000-4,500 บาท จากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาซื้อถึงบ้าน.
เพ็ญพิชญา เตียว