เกิด...แก่...เจ็บ...ตาย คือสัจธรรมของชีวิต “ทานาคา”...ได้ชื่อว่าเป็นต้นไม้แห่งชีวิตที่มีความผูกพันกับชาวพม่ามาตั้งแต่ในอดีตวันวานจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
ด้วยอรรถประโยชน์มากมายมหาศาล ที่หลายๆคนพอจะรู้กันมาอยู่บ้างแล้ว นอกจากนี้ ทานาคายังมีความเกี่ยวโยงกับความเชื่อและศรัทธาที่ผู้คนได้นำไปใช้ในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ โดยใช้การฝนทานาคาแล้วนำไปล้างหน้า “พระมหามัยมุนี” พระพุทธรูปที่เชื่อศรัทธากันว่ามีลมหายใจจริง
ศรัทธาเป็นเช่นนี้จึงต้องมีพิธีล้างพระพักตร์ในทุกเช้า ด้วยน้ำอบ น้ำหอม ผสมผงทานาคา พร้อมๆกันนี้ยังใช้แปรงทองนำมาแปรงที่พระโอษฐ์ เสมือนหนึ่งแปรงพระทนต์ถวายพระพุทธเจ้า

“พระมหามัยมุนี” แห่งเมืองมัณฑะเลย์ ถือเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองประเทศพม่า เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ หน้าตักกว้าง 3 เมตร เป็นที่ยอมรับกันว่ามีพุทธลักษณะงามที่สุดองค์หนึ่ง ซึ่งคำว่า “มหามุนี” แปลว่า...มหานักปราชญ์
เรื่องเล่าเมื่อครั้งมีการดำเนินการที่จะริเริ่มก่อสร้าง...“พระมหามัยมุนี” กล่าวกันว่า...กษัตริย์ผู้สร้างทรงพระสุบินว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทานพรให้พระพุทธปฏิมาองค์นี้เป็นตัวแทนของพระองค์ เพื่อเป็นเครื่องสืบสานพระศาสนาต่อไปในภายภาคหน้า ซึ่งเป็นต้นแบบพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่ทรงเครื่องกษัตริย์
...

พระเจ้ากรุงยะไข่ทรงหล่อขึ้นที่เมืองธรรมวดี ประเด็นน่าสนใจมีอยู่ว่า...แม้ว่าเมืองยะไข่จะถูกโจมตีโดยกษัตริย์เมืองอื่นที่ทรงแสนยานุภาพมากมายแค่ไหนอย่างไร แต่ก็ไม่อาจที่จะเคลื่อนย้ายองค์พระมหามัยมุนีนี้ออกจากเมืองไปได้ ต้องมีอันให้เกิดเหตุขัดข้อง ติดขัดเสียทุกครั้งไป
อีกตำนานเล่าขานเกี่ยวกับศรัทธาเหนือปาฏิหาริย์...พระพุทธเจ้าทรงประทานลมหายใจให้ “พระมหามัยมุนี” เป็นตัวแทนสืบทอดพระศาสนาชาวพม่า ที่ให้เชื่อกันว่าพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้มีลมหายใจจริง ด้วยเหตุที่ว่ามีการปิดทองซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกระทั่งองค์พระเป็นรอยย่นตะปุ่มตะป่ำไปทั่ว หากใครที่มีโอกาสได้ลองเอานิ้วกดลงไปจะสัมผัสได้ถึงความอ่อนนิ่มในเนื้อทองคำเปลวที่ถูกปิดซ้อนทับกันนับพันๆหมื่นๆชั้นนั่นเอง
นับรวมเวลาผ่านมาเนิ่นนานหลายศตวรรษแล้ว ส่งผลทำให้ “พระมหามัยมุนี” มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า...“พระเนื้อนิ่ม” สิ่งที่น่าแปลกจนกลายเป็นที่อัศจรรย์ใจก็คือ แม้ว่าจะมีการปิดทองซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนองค์พระใหญ่ขึ้นเพียงใดก็ตามที แต่พระพักตร์ขององค์พระก็ยังแลดูใหญ่ตามองค์พระได้อย่างไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ
ทั้งที่...ไม่ได้มีการปิดทองที่พระพักตร์เลยแม้แต่น้อย
“ทานาคา”...ชาวพม่านิยมใช้เป็นยาสมุนไพร เชื่อว่าธาตุร้อนในทานาคาและรสชาติขมจะช่วยให้เกิดการกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต หรือว่าหากเกิดบาดแผลเป็นหนองอักเสบก็ยังสามารถใช้ทานาคาเป็นยาสมุนไพรทารักษาได้ นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณรักษาไข้หวัด โรคไข้ทรพิษได้อีกด้วย

ด้วยสรรพคุณมากมาย ยาสมุนไพรพม่าส่วนใหญ่จึงมีส่วนผสมของทานาคาประกอบรวมอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นยาขับเหงื่อ แก้ปวดท้อง ยารักษาโรคหัวใจ ผู้หญิงเป็นไข้ทับระดูก็จะนำรากทานาคาและขมิ้นมาฝนทาทั้งตัว ส่วนผลทานาคานั้นมีรสชาติเปรี้ยวและขม จะใช้เป็นยาแก้พิษ ยาบำรุง
และในส่วนของใบจะใช้เป็นยารักษาโรคลมชัก โดยดื่มน้ำต้มใบทานาคา หรือถ้านำมาอาบให้กับผู้ป่วยโรคเรื้อน อาบเมื่อเหงื่อออกก็จะมีเลือดที่สะอาด เช่นเดียวกันกับแผลพุพองให้เอาใบมาบดใส่แผล หนองจะหาย ช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น

...
นอกจากต้นทานาคาแล้ว...ยังมีความเชื่อที่เกี่ยวโยงไปถึง “ต้นชัยชนะ” หรือ “ต้นหว้า”
ชัยชนะที่ว่านี้หมายรวมถึงความสำเร็จในด้านหน้าที่การงาน ความร่ำรวย ปลดเปลื้องหนี้สินได้อย่างรวดเร็วทันใจ ยกตัวอย่างที่หลายคนอาจจะไม่เคยสังเกต รถยนต์ที่ให้บริการนำนักท่องเที่ยวเพื่อมาแสวงบุญยังแผ่นดินพม่า จะมีกิ่งใบของต้นชัยชนะผูกติดไว้ที่หน้ารถเสมอ
สะท้อนให้เห็นได้ว่า...“ต้นทานาคา”...“ต้นชัยชนะ” นั้น มีความผูกพันกับชาวพม่านับตั้งแต่ในอดีตเนิ่นนานมาแล้ว จนถึงวันนี้ก็ยังไม่เสื่อมคลาย นับเป็นต้นไม้แห่งชีวิตอย่างแท้จริง
ตั้งแต่สมัยพุกาม มีการจัดงานประเพณีเกี่ยวกับทานาคาขึ้นทุกปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์อย่างยิ่งใหญ่ เรียกว่า...“มีโพงหลู่ปะแว” เป็นช่วงที่มีอากาศหนาว ผู้คนจะเอาไม้จันทน์หอม จันทน์แดง จันทน์ขาวมาใช้เพื่อบูชาพระเจดีย์...ในยุคหลังๆต้นทานาคาหายากขึ้น ประเพณีนี้ก็ยังมีการทำกันอยู่บ้างแต่ก็ไม่มากเหมือนในอดีต
“ศรัทธา” นำมาซึ่ง “ปาฏิหาริย์”...เชื่อไม่เชื่ออย่างไรก็โปรดอย่าได้ลบหลู่.
รัก–ยม