“โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง” อันตรายมากน้อยแค่ไหน? อย่างไร?
นพ.อรรถภูมิ สู่ศุภอรรถ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เปรียบเทียบให้นึกภาพตามง่ายๆว่าถ้าเป็นแล้วก็เหมือนร่างกายเรามี “ระเบิด” ผูกติดอยู่กับตัวจะเกิดระเบิดขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เพราะเวลาที่หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ก็เหมือนเราเป่าลูกโป่งขึ้นมากๆถึงจุดหนึ่งก็แตก
“ถ้าแตกอัตราการเสียชีวิตเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งถ้าแตกอยู่ในช่องอกอัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ 90-95 เปอร์เซ็นต์ในที่เกิดเหตุ ถึงแม้ว่าคนไข้บางส่วนจะรอดชีวิตมาที่โรงพยาบาลได้ ได้รับการผ่าตัด...ครึ่งหนึ่งของคนไข้ที่รอดชีวิตก็ยังเสียชีวิตอยู่ดี เนื่องจากว่าคนไข้ส่วนใหญ่พื้นฐานคนที่เป็นโรคนี้มักจะเป็นผู้สูงอายุ”
นอกจากนี้ยังจะมีประวัติการสูบบุหรี่ โรคปอด มีความดันโลหิตสูง มีเบาหวาน หมายความว่า...เป็นคนไข้กลุ่มที่มีความอ่อนแอเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้ามีการเสียเลือด เลือดออกจากตัว 3-4 ลิตร แน่นอนว่าจะเสียชีวิตทันที ซึ่งหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ว่านี้มีปริมาณเลือดไหลผ่านอยู่ที่ 4-5 ลิตร/นาที
ระยะเวลาช้าเร็วของการเสียเลือดหรือนาทีเป็นนาทีตาย ก็ให้นึกถึงกรณีท่อประปาแตก ถ้าแตกรูเล็กก็ไหลช้า หากแตกรูใหญ่เสียเลือดมากก็ตายได้ทันที
กล่าวถึงสาเหตุ คุณหมออรรถภูมิ ย้ำว่า ส่วนใหญ่ราว 80 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย เสื่อมที่ผนังหลอดเลือด บ่อยครั้งส่วนใหญ่มาจากอายุมาก สูบบุหรี่ มีความดัน ไขมัน เบาหวาน ที่น่าสนใจยังเจอในคนที่อายุน้อยได้เหมือนกัน...คนไข้ที่เป็นโรคเนื้อเยื่อผิดปกติ ทำให้เนื้อเยื่อผิดปกติโดยกำเนิด

...
“เมื่อถึงเวลาหนึ่ง อายุประมาณ 20...30 ปี ก็จะมีการโป่งพองของผนังหลอดเลือด อีกอันหนึ่งกลุ่มที่มีการอัปเดตภูมิแพ้ตัวเองก็จะมีทำให้ผนังหลอดเลือดอักเสบ หรือมีการติดเชื้อก็ทำให้โป่งพองได้เหมือนกัน”
คนไข้ส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์จึงไม่มีอาการ เราจะไม่รู้เลยจนกระทั่งเริ่มโป่งมาถึงระดับหนึ่งในคนไข้บางส่วนเท่านั้น อาการที่เจอบ่อยคือเจ็บในตำแหน่งที่โป่ง เช่น โป่งในช่องอกก็จะมีอาการเจ็บหน้าอก ถ้าโป่งในช่องท้องก็ปวดท้อง และนอกจากอาการเจ็บ...อาการปวดแล้วบางครั้งที่ผนังที่มีการอักเสบก็มีก้อนเลือดมาเกาะอยู่
วันดีคืนดีก้อนเลือดก็หลุดไปที่ขา คนไข้บางส่วนก็จะมีอาการขาขาดเลือด หรือเจ็บที่ขา มาหาหมอ...การสังเกตความแตกต่างในกรณีถ้าก้อนเลือดมาอุดบริเวณเส้นเลือดเล็กๆ ไม่ได้อุดเส้นสำคัญ และก้อนไม่ได้ใหญ่มากก็จะมีอาการเจ็บหรือปวดเวลาที่เดินนานๆ เดินไกลๆ ซึ่งเจอได้บ่อยในคนไข้สูงอายุที่สูบบุหรี่ เพราะพื้นฐานของหลอดเลือดไม่ดีอยู่แล้ว มักจะมีการตีบหรือหนาตัวขึ้น

“รูของหลอดเลือดก็แคบอยู่แล้ว หากมาเจอก้อนเลือดอุดซ้ำซ้อนก็จะยิ่งแย่ลงได้ จากที่บอกว่าเดินได้ 100–200 เมตร แล้วค่อยปวดอาจจะเปลี่ยนมาแค่ 50 เมตรก็ปวดขาแล้ว ดังนั้นเมื่อรู้สึกว่าเดินได้ไม่ไกล ควรที่จะต้องมาโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการตรวจให้รู้สาเหตุที่แน่ชัดเสียก่อน”
หรือ...คนไข้บางส่วนก็จะมีอาการกดเสียดของก้อนหลอดเลือดใหญ่ไปกดอวัยวะข้างเคียง เช่น หลอดอาหารทำให้กลืนไม่ได้ ถ้าไปกดหลอดลมก็ทำให้หายใจไม่สะดวก หรือไปกดเส้นประสาทคุมกล่องเสียงก็จะทำให้เสียงแหบ...หรือในช่องท้องก็ไปกดลำไส้เล็กอาจจะทำให้มีรูทะลุเชื่อมกันระหว่างลำไส้เล็กกับหลอดเลือดแดงใหญ่ เกิดเลือดออกทางเดินอาหาร หรือว่าในช่องท้องไปกดหลอดเลือดดำก็ทำให้ขาบวมได้อีกเหมือนกัน
โดยทั่วไปแล้ว อาจไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีอาการดังที่กล่าวมาแล้วเป็นข้อบ่งชี้ว่า กำลังเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองอยู่ แม้กระทั่งหากคนไข้มาด้วยอาการปวดท้องแล้วไปพบแพทย์ ถ้าหากแพทย์ไม่ได้ ตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดบางครั้งก็ยังไม่รู้ เพราะอวัยวะในช่องท้องมีเยอะมาก การวินิจฉัยแยกโรคจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ถามถึงการรักษา การป้องกัน เนื่องจากว่าคนไข้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเลยเหมือนกับพกระเบิดในช่องท้องหรือช่องอกเอาไว้ วันดีคืนดีเกิดระเบิดแตกตายโดยที่ไม่มีอาการมาก่อนก็เป็นไปได้...
“คนส่วนใหญ่จะนึกว่า คนที่นั่งกินข้าวอยู่ดีๆแล้วล้มตึงลงไปเลยมักจะบอกว่าเป็นโรคหัวใจ ไม่ค่อยมีใครรู้จักโรคนี้สักเท่าไหร่ อยากจะให้ทราบไว้ว่านี่คืออีกโรคหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ทันทีทันใด บางทีเห็นคนไข้เสียชีวิตทันทีก็อาจจะเกิดจากโรคนี้ก็ได้ โดยที่เราไม่รู้มาก่อน”
การที่เราไม่รู้เลยว่าเป็นโรคหลอดเลือดฯแล้วโป่งพองระเบิดออกมา แน่นอนไปโรงพยาบาลไม่ทันหรอก...ต่อให้ไปทันคนไข้ก็เสียชีวิตอยู่ดี ดังนั้นจะดีกว่าไหมถ้าเรารู้ก่อนว่ามี แนะนำว่าคนไข้ที่มีความเสี่ยงสูงสมควรที่จะมาตรวจคัดกรองเสียแต่เนิ่นๆ ความเสี่ยงสูงก็คือคนไข้ที่เป็นผู้ชาย อายุเกินกว่า 65 ปี
มีประวัติสูบบุหรี่ หรือ...มีประวัติหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในครอบครัวมาก่อน ถือเป็นความเสี่ยงที่สมควรจะทำการตรวจคัดกรอง อัลตราซาวนด์ช่องท้องเช็กขนาดหลอดเลือดแดงใหญ่ว่าโตไหม ถ้าไม่โตอย่างน้อยก็สบายใจได้ ไม่ต้องระวังอะไรมาก แต่ถ้าโตปริ่มๆก็ยังต้องติดตาม...คอยเฝ้าดูว่าโตขึ้นไหม ถ้าโตก็ผ่าตัดเสียก่อน
...
ส่วนการตรวจช่องอก แนะนำให้ทำเฉพาะคนไข้ที่มีประวัติโรคเนื้อเยื่อ หรือคนในครอบครัวมีประวัติ และควรทำตั้งแต่อายุน้อยๆตั้งแต่ 20 ปี
ในส่วนของคนทั่วๆไป ไม่เคยเป็นโรคนี้ ไม่มีโรคประจำตัวใดๆจะต้องระวังอะไรบ้าง คุณหมออรรถภูมิบอกว่า เรารู้อยู่แล้วว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้คืออะไร...ผู้ชายกับอายุเราเลี่ยงไม่ได้ แต่บุหรี่เราเลิก...ไม่สูบได้
โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคหลอดเลือดฯโป่งแล้ว มีสถิติน่าสนใจอันหนึ่งระบุว่า ถ้าคนกลุ่มนี้หยุดสูบบุหรี่ทันที จะลดความเสี่ยงการแตกของหลอดเลือดแดงใหญ่ลงได้ถึง 4 เท่า
สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องหยุดสูบบุหรี่ และอีกอันหนึ่งก็คือปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้มีความเสื่อมของหลอดเลือด เช่น คนไข้ที่มีความดันโลหิตสูง ไขมันสูง คนที่เป็นเบาหวาน ถ้าควบคุมระดับไขมัน...น้ำตาล...ความดันได้ดี หมั่นพบแพทย์ กินยาสม่ำเสมอ ออกกำลังกายจะช่วยให้หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้หลอดเลือดเสื่อมเร็วลงไปได้
ส่วนที่เหลือก็จะเป็นเรื่องของการปฏิบัติตัวทั่วๆไป ยกตัวอย่างเช่น ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เยอะ ไม่ให้มีสัดส่วนของไขมันในร่างกายสูงจนเกินไป กินอาหารที่มีประโยชน์ ไม่กินอาหารที่มีไขมันสูง...มีความเค็มสูง เพื่อไม่ให้เกิดโรคไขมันในเลือดสูงและความดันสูง
“หลอดเลือดแดงใหญ่”...เป็นหลอดเลือดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เนื่องจากความเสื่อมของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดพองขยายจนมีขนาดใหญ่กว่าปกติ

...
โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง แบ่งตามตำแหน่งที่โป่งพองออกเป็น 2 ตำแหน่ง คือ หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้อง และ หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องอก โดยหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้องมีโอกาสพบได้บ่อยกว่าอาจเป็นเพราะคนไข้สามารถรอดชีวิตมาถึงโรงพยาบาลได้มากกว่า...ตรวจพบได้ง่ายกว่า ซึ่งหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องอก หากมีการปริแตกหรือฉีกขาดเกิดขึ้น โอกาสเสียชีวิตมีได้สูงถึง 100%
โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองกว่า 80% ของคนไข้ไม่มีอาการและสัญญาณเตือน เมื่อไม่มีอาการ คนไข้ก็จะไม่รู้ตัวว่าเหมือนมี “ระเบิดเวลา” ซ่อนอยู่ในช่องอกหรือช่องท้อง แล้วหากปล่อยให้ระเบิดขึ้นมา ถ้าเป็นหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องอกโอกาสเสียชีวิตมีได้เกือบ 100% โอกาสที่จะรอดชีวิตมาถึงโรงพยาบาลยากมาก
ขณะที่โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้อง โอกาสรอดชีวิตอาจจะสูงกว่าไม่มาก แต่หากมีการรับส่งคนไข้ที่ได้มาตรฐานที่ดี ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที โอกาสรอดชีวิตอาจสูงถึง 30%
อันตรายเป็นเช่นนี้...ชีวิตยังมีค่าผู้ที่มีความเสี่ยงควรตรวจคัดกรอง กันเสียแต่เนิ่นๆ.