เกษตรกรกำลังประสบความเดือดร้อน เนื่องจากต้องสูญเสียสิทธิในที่ดินและกลายเป็นผู้เช่าที่ดิน ต้องเสียค่าเช่าในอัตราสูงเกินควร ที่ดินขาดการบำรุงรักษาจึงทำให้อัตราการผลิตผลเกษตรกรรมอยู่ในระดับต่ำ เกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรม และเสียเปรียบจากการเช่าที่ดิน จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยด่วนที่สุด โดยวิธีการปฏิรูปที่ดินเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินและให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์มากที่สุด...เป็นหลักการและเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ 6 มี.ค.2518

นับถึงวันนี้ 44 ปีล่วงมาแล้ว สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ถือกำเนิดเกิดขึ้นมาในประเทศไทย และจัดหาที่ทำกินให้แก่เกษตรกรไปแล้วทั้งสิ้น 2.8 ล้านราย คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 36 ล้านไร่

แต่พื้นที่ได้รับมอบให้มาส่วนใหญ่กว่า 90% อยู่นอกเขตชลประทาน ส่งผลให้พื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ขาดความอุดมสมบูรณ์ การทำกินของราษฎรต้องพึ่งพาน้ำฝนอย่างเดียว ประกอบกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าแหล่งน้ำ ถนน ไฟฟ้า เป็นไปอย่างล่าช้าด้วยงบประมาณที่จำกัด ...ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินยังคงมีรายได้ต่ำ ไม่ต่อเนื่อง ไม่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายในครัวเรือนตลอดทั้งปี

...

นำไปสู่ปัญหาการซื้อขาย เปลี่ยนแปลงสิทธิการถือครองที่ดินอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

5 ก.ค.2559 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย...สามารถยึดพื้นที่คืนมาได้ 443,889 ไร่ และส่งมอบให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ดำเนินการจัดสรรที่ดินในรูปแบบแปลงรวม

ตั้งสหกรณ์ขึ้นมาทำหน้าที่ในการบริหารพื้นที่ และได้จัดเกษตรกรลงพื้นที่ไปแล้ว 20 แห่ง จัดตั้งสหกรณ์ 12 สหกรณ์ ใน 7 จังหวัด อุทัยธานี, กาญจนบุรี, ชลบุรี, สุราษฎร์ธานี, กาฬสินธุ์, นครราชสีมา และสระแก้ว รวมเนื้อที่ 14,083 ไร่ เกษตรกร 1,364 ราย

“เพื่อไม่ให้ปัญหาการซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก. อย่างในอดีตเกิดขึ้นอีก เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2561 เราได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ 8 หน่วยงาน กรม ชลประทาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรให้มีเพียงพอต่อการทำมาหากินของเกษตรกร”

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก.เผยถึงมิติใหม่ของการปฏิรูปที่ดินที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ไม่เพียงจะมีการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ

ต่อจากนี้ไปการพัฒนาพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ยึดคืนมา...สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดทุกจังหวัดจะต้องแต่งตั้งผู้ดูแลพื้นที่ ส.ป.ก. อย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน

“นี่จะเป็นการพลิกโฉม ส.ป.ก.จากนักจัดรูปที่ดิน ให้กลายเป็นผู้จัดการพื้นที่ หรือ Area Manager เพื่อบูรณาการจัดการพื้นที่หลังจากจัดให้เกษตรกรแล้ว ทั้งในเรื่องของน้ำ ดิน ไฟฟ้า ที่อยู่อาศัย เส้นทางคมนาคม พร้อมส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม ด้วยการทำเกษตรผสมผสาน การปลูกพืชผัก การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปศุสัตว์และประมง รวมไปถึงการนำพาตลาดเข้ามาหาเกษตรกรในพื้นที่สำคัญที่สุดคือการสร้างเครือข่ายกับภาครัฐ เอกชน หอการค้า หน่วยงานธุรกิจต่างๆเพื่อเข้ามาฟื้นฟูพื้นที่ ส.ป.ก.ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก.อยู่ได้ อยู่ดี และอยู่อย่างยั่งยืน”

...

สิ่งเหล่านี้เป็นความตั้งใจที่จะทำจริงเพื่อเกษตรกร แต่จะเกิดขึ้นได้จริงแค่ไหน และจะไปได้ยาวไกลหรือไม่...กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์.

ชาติชาย ศิริพัฒน์