ยามค่ำคืนในพื้นที่ป่าภาคใต้ มักมีเสียงร่ำไห้โหยหวนให้ได้ยิน คนรุ่นเก่าๆจะรู้ว่าเป็นเสียงอะไร แต่นานวันไม่ค่อยจะได้ยินบ่อย...คนรุ่นใหม่เลยขวัญผวา

ที่มาของเสียง ไม่ใช่ผีป่าหรือนางไม้ แต่เป็นเสียงร่ำร้องของ ...บ่าง หรือพุงจง

ภาษาใต้เรียกว่า พะจง เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รูปร่างคล้ายกระรอกบิน แต่มีขนาดใหญ่กว่า พบได้แต่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ส่วนประเทศไทย ภาคตะวันตกพบได้ในป่ากาญจนบุรี ภาคตะวันออก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และภาคใต้ตอนกลางลงไปสุดแดนใต้

เป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Galeopterus ผิวหนังย่น ตามีขนาดใหญ่ สีแดง ใบหูเล็ก มีนิ้ว 5 นิ้ว สีขนมีหลากหลายมาก เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ทั้งแดง น้ำตาลและสีเทา อาจมีลายเลอะกระจายไปทั่วตัวด้วย ตัวเมีย ตัวผู้ คล้ายกันมากแต่ตัวผู้มีสีเข้มกว่า

ชอบหากินอยู่บนต้นไม้สูง กินยอดไม้ ดอกไม้ เวลากลางคืนสามารถไต่ต้นไม้และร่อนไปได้ไกลกว่ากระรอกบิน ตั้งท้องประมาณ 60 วัน ออกลูกครั้งละตัว แม่บ่างจะเลี้ยงลูกโดยให้เกาะที่ท้องอยู่บนต้นไม้ มีพังผืดระหว่างขาทำหน้าที่เหมือนเปลเลี้ยงลูกเป็นอย่างดี

ลูกบ่างจะเกาะอาศัยกินนมแม่จนอายุได้ 3 ปี จึงแยกตัวออกไปหากินอย่างอิสระ

ยามร้องหาคู่ เสียงคล้ายคนร้องไห้ แถมเป็นสัตว์ที่มีหน้าตาน่าเกลียด ตาสีแดงก่ำ ชาวบ้านเลยอนุมานว่าเป็นเสียงร้องของผีป่า นางไม้

ส่วน “บ่างช่างยุ” หามีส่วนเกี่ยวข้องกับ “บ่าง” สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพันธุ์นี้แต่อย่างใด.