ในที่สุด พล. ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตัดสินใจประกาศให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ สถานการณ์มลพิษทางอากาศ จากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่ก่อตัวบริเวณกว้างจนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ไปเรียบร้อย
เป็นที่ทราบกันแน่ชัดแล้วว่า จำเลยหรือตัวการใหญ่ 3 อันดับแรก ที่ก่อให้เกิดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ให้คนกรุงเทพฯและปริมณฑลบ่นกันทั้งบ้านทั้งเมืองนั้น
ตัวแรก หรือ 52% มาจาก ไอเสียรถยนต์ดีเซล ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ (ควันดำ)
ตัวร้ายถัดมาหรือ 35% เกิดจาก การเผาไหม้และปิ้งย่างในที่โล่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเผาขยะ ซังข้าวในนา หรือเมนูปิ้งย่างทั้งหลาย ฯลฯ ผู้ร้ายหมายเลข 3 ตัวการก่อฝุ่นพิษอีก 8% มาจาก ฝุ่นละอองที่เกิดจากการก่อสร้าง ทั้งคอนโดฯ และโครงการรถไฟฟ้า เป็นต้น
โดยเฉพาะตัวการใหญ่อย่าง ไอเสียรถยนต์ นั้น ล่าสุดวิศวกรบางท่านซึ่งรู้ดีเรื่องเครื่องยนต์ ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ไม่เพียงควันดำจากไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซลเท่านั้น ที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษ PM 2.5 แม้แต่ “ควันขาว” ที่พ่นออกมาจากไอเสียของเครื่องยนต์เบนซิน ก็มีส่วนทำให้เกิดฝุ่นควันพิษได้ไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน
ควันดำและควันขาวต่างกัน ควันดำ คืออนุภาคของถ่านหรือคาร์บอนเป็นผง เขม่าเล็กๆที่เหลือจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ที่ไม่สมบูรณ์ ปัญหาอาจเกิดจากการที่วาล์วจ่ายอากาศชำรุด หัวฉีดดีเซลเสื่อม ทำให้ไอของน้ำมันไม่กระจายเป็นละออง หรือเกิดจากกรองอากาศตัน ทำให้จ่ายอากาศไม่พอ อากาศจึงเข้าไปสันดาปไม่พอ เป็นต้น

...
ส่วน ควันขาว เกิดจากการรั่วไหลของน้ำมันเครื่องเข้าไปยังลูกสูบ เป็นไฮโดรคาร์บอนที่ไม่เผาไหม้ สาเหตุอาจเกิดจากการที่เสื้อสูบหลวม ฝาสูบโก่ง เมื่อละอองน้ำมันเครื่องนี้ออกมาเจอกับอากาศที่เย็นกว่า จะกลั่นตัวเป็นควันขาว
ผู้รู้ท่านนี้บอกว่า สรุปแล้ว ควันขาวไม่ได้แย่น้อยไปกว่าควันดำเลย เพราะในน้ำมันเครื่องมีสารไฮโดรคาร์บอน+สารสังเคราะห์จำนวนมาก สารเหล่านี้นอกจากจะทำให้ระคายเคืองผิว ยังเป็นสารก่อมะเร็ง เมื่อสูดดมเข้าไปในปอดแล้วจะเหลืออะไร!!!
จึงฝากเตือนไปยังตำรวจ เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวัดไอเสียจากรถยนต์ รวมทั้งเจ้าของรถยนต์เบนซิน และบรรดานักบิด หรือสิงห์มอเตอร์ไซค์ทั้งหลายที่ชอบผสมหัวเชื้อน้ำมันเครื่องลงไปในถังน้ำมันเชื้อเพลิง ให้ช่วยกันดูแลฆาตกรเงียบอีกตัว ที่เข้ามาผสมโรงทำให้อากาศในเมืองหลวงเน่าเฟะ เละตุ้มเป๊ะกันเข้าไปใหญ่
ในแง่พิษภัยของ PM 2.5 ผู้ใช้เฟซบุ๊กนามว่า Amnuaysak Thoonsiri ได้อธิบายโพสต์ของ “Rama Channel” (มหาวิทยาลัยมหิดล) ซึ่งได้ออกแถลงการณ์ถึงมหันตภัยของฝุ่น PM 2.5 เอาไว้น่าสนใจว่า
1.ฝุ่นชนิดนี้มีพิษสงไม่ต่างจากควันบุหรี่ ทำให้เกิดถุงลมโป่งพอง โรคหืดกำเริบ ภูมิแพ้กำเริบ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
2.ปกติเด็กแรกเกิดจะมีถุงลม 25 ล้านใบ ตอนอายุ 10 ขวบ จะมีถุงลมเพิ่มขึ้นเป็น 300 ล้านใบ แต่ถุงลมเหล่านี้จะเจริญเต็มที่ มีสมรรถภาพปอดขั้นสุด เมื่อตอนอายุ 20 ปี การที่เด็กได้รับฝุ่นมาก ก่อนอายุ 20 ปี นอกจากปอดจะพัฒนาไปถึงขั้นสุดไม่ได้ ยังเสื่อมสมรรถภาพเร็ว เกิดถุงลมโป่งพองก่อนวัยอันควร อายุ 40-50 ปี ก็เริ่มเหนื่อยแล้ว
3.ในประเทศจีน สหรัฐอเมริกา ยุโรป บริเวณที่มี PM 2.5 เยอะจะมีผู้ป่วย admit รพ.เยอะ เสียชีวิตด้วยโรคทางปอดและหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น

4.นอกจากฝุ่น ยังมีโลหะหนัก และสารก่อมะเร็ง ที่มากับฝุ่น เช่น polycyclic aromatic Hydrocarbon ซึ่งทำให้เกิดสารพันธุกรรมกลายพันธุ์ เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น
5.ฝุ่น PM 2.5 มาจากท่อไอเสียรถยนต์ การเผาในที่โล่ง โรงงานอุตสาหกรรม เป็นหลัก (ทุกวันนี้รอบๆ กทม. มีโรงงานที่ปล่อยควันจำนวนมหาศาล)
6.กลุ่มเสี่ยง นอกจากจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ ยังรวมถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคทางเดินหายใจ คนเหล่านี้ควรให้อยู่ในที่ปิดในบ้าน ไม่ควรออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้ง
7.แนะนำให้ปลูกพืชในแนวดิ่งกันเยอะๆ พืชไทยที่ช่วยดักจับฝุ่นได้ดี เช่น สร้อยอินทนิล ใบระบาด ต้นตำลึง ต้นจันทร์กระจ่างฟ้า และต้นเล็บมือนาง เป็นต้น
8.ประชาชนควรบริโภคผักผลไม้หลากสี เน้นสีเหลือง ส้ม แดง เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระและสารพฤกษเคมีที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ Vitamin C, Vitamin E, รวมทั้งน้ำมันปลา ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากระบบทางเดินหายใจและหัวใจได้
นอกจากนี้ ในบทความเรื่อง Detox ปอด ของ อ.ดร.กมล ไชยสิทธิ์ ระบุว่า สมุนไพรไทยอย่าง “ขมิ้นชัน” มี curcumin ช่วย ลดการอักเสบในปอด ฟักทอง แครอท มะม่วงน้ำดอกไม้สุก มะละกอสุก หรือผักผลไม้ที่มีสีเหลือง สีส้ม จะมี carotenoids ช่วยป้องกันการกลายพันธุ์ของยีนบริเวณปอด และป้องกันมะเร็งปอด
...
“ออริกาโน” มีสาร carvacrol ช่วย detox ปอด “บรอกโคลี” มากกว่า 200 กรัมต่อวัน มีสาร sulforaphane มีส่วนช่วยล้างพิษฝุ่น PM 2.5 ออกจากปอด
เครื่องปรับอากาศ (แอร์) ส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อกรองฝุ่น PM 2.5 ถ้ามีเงินควรใช้แอร์บางรุ่น แบบที่มีเครื่องฟอกอากาศด้วย ซึ่งต้องดูตามสเปกของเครื่องว่า รุ่นนั้นกรองได้หรือไม่

ยกตัวอย่าง ถ้าแอร์เครื่องนั้นระบุว่า สามารถกรอง 0.3 micron 99.97% จะกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ แต่ไม่สามารถกรองอนุภาคที่เล็กกว่า 0.3 micron อย่างเช่น อนุภาคของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ ซึ่งมีขนาดเฉลี่ย 0.098 micron หรือแร่ใยหิน (asbestos) 0.1 micron ไวรัสไข้หวัด Rhinovirus 0.023 micron เป็นต้น
นสพ.เดอะการ์เดียน ซึ่งอ้างงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ ในสหรัฐอเมริกา รายงานว่า มลพิษทางอากาศทำให้ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์เสี่ยงแท้งลูกพอๆกับการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังทำให้เด็กแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ ผลวิจัยอีกชิ้นเมื่อไม่นานมานี้ยังมีการพบอนุภาคของมลพิษทางอากาศที่ “รก” ในครรภ์ด้วย
...
ซึ่งงานวิจัยล่าสุดนี้ เป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ประเมินผลกระทบในระยะสั้นของมลพิษทางอากาศ โดยพบว่า ระดับไนโตรเจนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของการแท้งลูก 16 เปอร์เซ็นต์ ไนโตรเจนออกไซด์เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล
แม้งานวิจัยนี้ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Fertility and Sterility ทำขึ้นที่เมืองซอลต์เลคซิตี แต่ ดร.แมทธิว ฟูลเลอร์ หนึ่งในทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ บอกว่า สามารถสะท้อนถึงปัญหาที่ใดในโลกก็ได้ เพราะมีเมืองใหญ่ๆในโลกอีกหลายแห่งที่กำลังเผชิญปัญหามลพิษทางอากาศที่แย่กว่านี้
โดยเฉพาะยิ่งอยู่ใกล้กับถนนที่มีการจราจรคับคั่งอย่างในกรุงเทพฯ ยิ่งเสี่ยงเป็นสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นด้วย.