สถานการณ์โรค “ไข้เลือดออก” ปีนี้มีทีท่าน่าเป็นห่วง “กรมควบคุมโรค” รายงานข้อมูลประจำสัปดาห์ที่ 36 ปี 2561 ณ วันที่ 18 กันยายน 2561 ระบุว่า มีผู้ป่วย 57,129 ราย ตาย 71 ราย อัตราป่วยต่อแสนอยู่ที่ 86.48...และอัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 0.12

...มีการรายงานจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกมากกว่าปี 2560 ในช่วงเวลาเดียวกันถึง 1.5 เท่าและยิ่งน่าสนใจเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีผู้ป่วย 85,724 ราย ตาย 74 ราย อัตราป่วยต่อแสนอยู่ที่ 131.63...อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 0.09 หากยังจำกันได้เป็นปีเดียวกันที่พระเอกดัง “ปอ ทฤษฎี” ก็ป่วยด้วยโรคนี้

ในปีนี้หากจำแนกเป็นรายภาค “ภาคกลาง” มีผู้ป่วยมากที่สุดอยู่ที่ 23,643 ราย เสียชีวิต 37 ราย...รองลงมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้ป่วย 13,442 ราย เสียชีวิต 10 ราย...ภาคเหนือป่วย 11,841 ราย เสียชีวิต 13 ราย และภาคใต้ 8,203 ราย เสียชีวิต 11 ราย

การกระจายการเกิดโรคไข้เลือดออกตามกลุ่มอายุ พบว่า ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 10-14 ขวบ มีอัตราป่วยสูงสุดอยู่ที่ 293.01 ต่อประชากรแสนคน รองลงมากลุ่มอายุ 5-9 ปี (227.19)...อายุ 15-24 ปี (159.49)...อายุ 0-4 ปี (99.42) และอายุ 25-34 ปี (80.44)

“อาชีพ” ที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ “นักเรียน”...ร้อยละ 48.48 รองลงมาอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 18.69...โดยมีสัดส่วนผู้ป่วยเพศชายกับเพศหญิงใกล้เคียงกัน

...

“โรคไข้เลือดออก”...เป็นโรคที่สร้างความสับสนให้กับทั้งแพทย์และคนไข้มากที่สุด

ด้วยอาการที่เริ่มต้นด้วยลักษณะเช่นเดียวกับไข้หวัดธรรมดาไปจนถึงไข้หวัดใหญ่ หรืออาจมีอาการไข้อย่างเดียวนำมาก่อน โดยไม่มีการออกอาการเฉพาะใดๆในวันแรกๆ...

หมอทั้งร้อยคน หากตรวจวินิจฉัยตามตำราย่อมแยกออกแทบไม่ได้ ต้องอาศัยการติดตามตัวคนไข้ว่าหากรักษาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น นัดตรวจติดตามดูอาการอื่นๆที่จะปรากฏร่วม เช่น คลื่นไส้อาเจียนจนถึงปวดท้อง ...ซึ่งก็คล้ายกับไข้หวัดลงกระเพาะลำไส้อยู่ดี ในระยะนี้บางทีก็จะชวนสงสัยได้ยาก

แม้รัดแขนก็อาจไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าเป็นไข้เลือดออก กว่าจะมีอาการจำเพาะของกลุ่มไวรัสนี้ก็เช่น เกร็ดเลือดต่ำ มีจุดเลือดออกหรือมีเลือดออกที่ต่างๆในร่างกายก็เป็นระยะท้ายๆที่มักมีอาการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก

“ยุงร้ายกว่าเสือ” ดูจะเป็นเรื่องจริง “หมอดื้อ” เคยเขียนไว้ในคอลัมน์ “สุขภาพหรรษา” นสพ.ไทยรัฐ ว่า ตั้งแต่หมอยังเด็กๆมีการรณรงค์กำจัดยุงทั้งยุงเด็ก ยุงแก่ รวมลูกน้ำ

จำความได้...มีการวิจัยมากมาย ปล่อยปลากินลูกน้ำ ปล่อยทราย จุลินทรีย์ ฆ่าไข่ ลูกน้ำ มีสำนักยุงแบบเฉพาะ...ยุงลาย...ยุงก้นปล่อง...ยุงรำคาญ แต่แล้วยังคงมี “ยุง” หึ่งไปหมด

หลายชนิดที่พร้อมฟูมฟักเชื้อโรค ทั้งมาลาเรีย ไวรัสไข้เลือดออกเดงกีย์ ไวรัสไข้ตัวงอ เพราะปวดข้อ ข้ออักเสบ ชิกุนกุนยา และมาใหม่ซิการ์ ไม่รุนแรงมากในผู้ใหญ่ มีตาแดง ผื่น ไข้น้อยๆ ปวดหัว ปวดเมื่อย

แต่...ถ้าถูกหวย ก็เกิดเส้นประสาทอักเสบ แขนขา อัมพาต หรือสมอง ไขสันหลังอักเสบ

ที่หวาดวิตกคือ “คนท้องติดเชื้อ” ทำให้เด็กในท้องติดเชื้อตาม หัวลีบตั้งแต่อยู่ในท้อง หรือมาลีบหลังเกิด และมีความผิดปกติแต่กำเนิด อีกมากแม้ไม่มีหัวลีบ

ที่หวาดเสียวกันก็คือ...ผู้ชายมีเชื้อปล่อยในน้ำอสุจิได้นานถึง 6 เดือน ผู้หญิงก็ได้ปล่อยเชื้อออกมาทางช่องคลอด แต่ระยะเวลาไม่นาน

ปัญหาสำคัญมีว่า...ทางป้องกันจะพึ่งการพ่นหมอกควันอาจจะมีข้อจำกัดหลายประการ จนทำให้อาจเข้าใจว่าจะมีประสิทธิภาพเก่งกาจ ในขณะนี้เป้าคือยุงลายซึ่งเป็นยุงในบ้าน

สำนักแมลง กระทรวงสาธารณสุข และสำนักโรคอุบัติใหม่ได้ให้ ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการพ่นควันและละอองสำหรับยุงตัวแก่มีรายละเอียดดังนี้คือ การกำจัดยุงตัวแก่มี 2 วิธี คือ การพ่นหมอกควัน (ขนาด 0.1-20 ไมครอน) และการพ่นละออง ULV (ขนาด 15-21 ไมครอน)

ซึ่งการใช้วิธี ULV จะมีประสิทธิภาพสูงกว่าในการกำจัดยุงตัวแก่

ข้อจำกัดในการใช้วิธีพ่นหมอกและละออง ได้แก่ ต้องพ่นในบ้าน ปิดหน้าต่างประตูมิดชิด ไว้นานอย่างน้อย 30 นาทีเท่านั้นจึงจะสามารถฆ่ายุงตัวแก่ได้ ส่วนใหญ่ประชาชนไม่ให้พ่นในบ้าน เจ้าหน้าที่จึงพ่นบริเวณรอบบ้าน ซึ่งไม่สามารถกำจัดยุงได้ทั้งหมด เพราะยุงสามารถบินหนีได้ทัน ถ้าไปพ่นนอกบ้านลอยๆลมพัดหมด

...

ดังนั้น...ถ้าพ่นนอกบ้านต้องพ่นตามท่อ ตามต้นไม้ที่คาดว่ายุงจะไปเกาะพัก ส่วนที่ยุงตัวแก่ ที่ได้รับหมอกควันในปริมาณน้อยก็จะไม่ตายเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม...การพ่นละอองจะยังมีประสิทธิภาพกว่าหมอกควันในการกำจัดยุงนอกบ้าน การพ่นนอกบ้านต้องพ่นในเวลาที่ไม่มีแสงแดดจัดและมีลมแรง เพราะเป็นเหตุให้หมอกควันและละอองลอยตัวได้อย่างรวดเร็ว และไม่โดนยุง แต่ก็สามารถพ่นได้ในตอนเช้าหรือเย็น จึงจะมีประสิทธิภาพดีในระดับหนึ่ง

“ประชาชนส่วนมากยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในการใช้การพ่นว่าต้องเลือกในบ้านก่อนเพราะเป้าหมายคือยุงลายถ้าไปพ่นนอกบ้านลอยๆลมพัดหมด ข้อจำกัดอีกประการคือประชาชนยังคุ้นชินกับการใช้วิธีแบบการพ่นหมอกควันมากกว่าวิธีพ่นแบบละอองฝอยเพราะดูเป็นจริงเป็นจัง ได้กำลังใจ เพราะฉะนั้นควรเลิกหมอกควันหรือไม่ และถ้าพ่นแบบละอองฝอยก็ต้องพ่นให้ถูกต้อง...พ่นในบ้าน ถ้านอกบ้านต้องเลือกบริเวณและเวลาที่เหมาะ”

น่าสนใจว่า...การเรียกร้องให้ทางการพ่นผิดวิธี นอกจากไม่ได้ผล เสียงบ ยังคิดว่าตนเองปลอดภัย เลยเป็นไข้เลือดออก ไข้ซิการ์ไปอีก

“หมอดื้อ” ย้ำว่า ทางที่ดีคืออย่าหวังพึ่งใคร กะโหลก กะลาที่รองน้ำ จานชามไห ชักโครก ต้องคว่ำ ปิดมิดชิด ช่วยตัวเอง...หายาทา ยาไล่ยุง...กันยุงไม่ให้มาใกล้ ได้นานๆอย่างน้อย 5 ชั่วโมง หรือกลุ่มที่ต้องพ่นกันทุก 10 หรือ 20 นาที เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง

รายงานพยากรณ์โรค “ไข้เลือดออก” ปี 2561 สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ระบุว่า ประเทศไทยมีรายงานการระบาดของโรคไข้เลือดออกมานานกว่า 50 ปี ปัจจุบันโรคมีการระบาดกระจายไปทั่วทุกประเทศ ทุกจังหวัด และอำเภอ การกระจายของโรคมีการเปลี่ยนแปลงตามพื้นที่อยู่ตลอดเวลา

...

ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการแพร่กระจายของโรคมีความซับซ้อนและแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และยังมีส่วนทำให้รูปแบบการเกิดโรคมีความผันแปรไปในแต่ละปี

การรายงานสถานการณ์โรคจึงเปลี่ยนไปสู่การสร้างสรรค์ความคิด รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่างๆเพื่อประโยชน์ในการ “ป้องกัน” และ “เตือนภัย” ในเหตุการณ์ต่างๆมากขึ้น

นำไปสู่การ “ทำนาย” หรือ “พยากรณ์” เพื่อคาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้า รวมถึงประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพรายพื้นที่ เพื่อการตัดสินใจกำหนดนโยบาย แผนงาน กลยุทธ์ในการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้

“ยุงลาย” คือพาหะนำโรคไข้เลือดออก ในประเทศไทยมียุงลายมากกว่า 100 ชนิด แต่ที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกมี 2 ชนิด “ยุงลาย บ้าน” กับ “ยุงลายสวน” โดยยุงลายบ้านจะเป็นพาหะหลัก

แม้ “ยุงจะร้ายกว่าเสือ” แต่ถ้าทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน...คงปราบยุงลายให้อยู่หมัดได้ไม่ยาก.