เปิดแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา "ลดเหลื่อมล้ำ-ยกระดับคุณภาพ"

แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

แผนปฏิรูปประเทศด้านที่ 12 ซึ่งกำลังจ่อคิวขอไฟเขียวจากรัฐบาล เพื่อนำไปประกบกับแผนปฏิรูปประเทศอีก 11 ด้าน

สืบเนื่องจากปัญหาวิกฤติการศึกษาไทย นำไปสู่การแต่งตั้ง คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา หรือ กอปศ. เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ

หลังเสนอร่างกฎหมายหลายฉบับรวมถึงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ที่เปรียบเสมือนธรรมนูญการศึกษาของประเทศ โดยล่าสุด กอปศ.ได้จัดทำร่างแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาขึ้น

“ทีมการศึกษา” มองว่าแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่มีการกำหนดไว้ 7 เรื่องหลัก มีความสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ จึงขอนำเสนอต่อสาธารณะ

การปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่และกฎหมายลำดับรอง ประกอบด้วย ประเด็นปฏิรูป 5 ประเด็น คือ การมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนเพื่อการจัดการศึกษา ขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิตและการศึกษาตามอัธยาศัย รองรับการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต การทบทวนแผนการศึกษาแห่งชาติ และการมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ

...

การปฏิรูปการพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน ประกอบด้วยการปฏิรูปใน 2 ประเด็น ได้แก่ การพัฒนาระบบการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย การสื่อสารสังคมเพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนาเด็กปฐมวัย

การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ประกอบด้วย 3 ประเด็นปฏิรูป ได้แก่ การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลพิการ บุคคลที่มีความสามารถพิเศษ และบุคคลที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ การดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ให้เด็กเยาวชนทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปีตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพ และไม่เก็บค่าใช้จ่าย และการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล หรือในสถานศึกษาที่ต้องมีการยกระดับคุณภาพอย่างเร่งด่วน

การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ประกอบด้วยการปฏิรูปใน 4 ประเด็น ได้แก่ การผลิตครู และการคัดกรองครู เพื่อให้ได้ครูที่มีคุณภาพตรงกับความ ต้องการของประเทศและมีจิตวิญญาณความเป็นครูการพัฒนาวิชาชีพครู เส้นทางวิชาชีพครู เพื่อให้ครูมีความก้าวหน้า ได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม องค์กรวิชาชีพครู และการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วยการปฏิรูปใน 8 ประเด็น ได้แก่ การปรับหลักสูตรเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ การประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาระดับชาติและระบบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ ระบบการประกัน การประเมิน และการรับรองคุณภาพการศึกษา ระบบความปลอดภัย และระบบสวัสดิภาพของผู้เรียน จัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม การปฏิรูปอาชีวศึกษา เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปฏิรูปอุดมศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลของระดับอุดมศึกษา และจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ

ศ.นพ.จรัส
ศ.นพ.จรัส

การปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน ประกอบด้วย 4 ประเด็นปฏิรูป ได้แก่ สถานศึกษามีความเป็นอิสระในการบริหารและจัดการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาในสถานศึกษา เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อผู้เรียนในพื้นที่เฉพาะ และการปรับปรุงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ

...

การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล ประกอบด้วย 3 ประเด็นปฏิรูป ได้แก่ การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ ระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา และการยกระดับความสามารถในการรู้เท่าทันด้านสื่อ และการรู้เท่าทันด้านดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

“กอปศ.ได้นำข้อสรุปจากปัญหาและความท้าทายของระบบการศึกษาไทย ที่ได้ร่วมกันทำการวิเคราะห์ รวมทั้งข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการศึกษาจากหน่วยงานต่างๆ และการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ มาพิจารณาจัดทำแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ใน 4 ด้านคือ ยกระดับคุณภาพของการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มุ่งความเป็นเลิศและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากร เพิ่มความคล่องตัวในการรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษาและสร้างเสริมธรรมาภิบาล

โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน มีการขีดเส้นภายในวันที่ 30 พ.ค. 2562 ซึ่งครบวาระการทำงานของ กอปศ. ระยะสั้น หรือภายใน 3 ปี และระยะกลาง-ระยะยาว หรือภายใน 5-10 ปี” รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาอธิบายที่มา

...

รศ.นพ.จิรุตม์
รศ.นพ.จิรุตม์

ขณะที่ ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวเสริมว่า “กอปศ.อยู่ระหว่างนำแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบและดำเนินการตามขั้นตอน ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่เป็นการพลิกโฉมหน้าประเทศไทย โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่ง กอปศ.เชื่อมั่นว่าจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยทำให้การปฏิรูปการศึกษาได้รับการถ่ายทอดสู่การปฏิบัติ และบรรลุผลอย่างที่ตั้งใจไว้”

...

“ทีมการศึกษา” ได้แต่ตั้งความหวังไว้ว่าแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่วางไว้อย่างสวยหรูจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษา

เพื่อพลิกโฉมหน้าประเทศไทยสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ได้จริง!!!

ทีมการศึกษา