ความเครียด วิตกกังวล และ หลายปัจจัยที่เกิดขึ้นในชีวิตคนเรา ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจ “หนี” และ “ทิ้ง” ปัญหาทุกอย่าง ด้วยการ “ฆ่าตัวตาย” ลาจากโลกใบนี้
ปัจจัยทั่วไปที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย มีทั้งปัจจัยด้านชีวภาพ สภาพจิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แต่ถ้าเป็นในกลุ่มวัยรุ่น การผิดหวังในความรัก ผิดหวังกับผลการเรียน และการมีปัญหาครอบครัว คือสาเหตุใหญ่ที่ทำให้วัยรุ่น มักตัดสินใจฆ่าตัวตายมากที่สุด
ส่วนความคิดที่มักชักนำให้คนเราไปสู่การฆ่าตัวตาย มักจะมีต้นเหตุมาจากความคิดที่ว่า ไม่มีใครเข้าใจเรา ไม่มีใครเห็นคุณค่าเรา และเจ้าของชีวิตเอง ก็มองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง
เมื่อความคิดเช่นนี้มาบรรจบกับ ช่วงเวลาที่เลวร้ายในชีวิต ของแต่ละคน ซึ่งล้วนมีส่วนผสมหรือองค์ประกอบ เฉพาะตัว เฉพาะสถานการณ์แวดล้อม (เช่น การเลี้ยงดู สังคมแวดล้อมที่บ้าน ที่ทำงาน) ยังมีปัจจัยในเรื่อง ความฉลาดในการแก้ปัญหา ความกล้าเผชิญหน้า รวมทั้ง บุคคลหรือตัวละครเกี่ยวข้อง ที่แตกต่างกัน เมื่อปัจจัยเหล่านี้พร้อมใจกันสุม หรือรุมเข้ามา มักทำให้คนเราตัดสินใจทำอะไรที่คาดไม่ถึง!!!
ข้อมูลจาก Kapook.com ระบุว่า องค์การอนามัยโลกเคยเปิดเผยตัวเลข โดยเฉลี่ยแล้วมีคนทั่วโลกฆ่าตัวตายถึงวันละเกือบ 3,000 คน หรือเท่ากับ ปีละกว่า 1 ล้านคน ไม่เพียงตัวเลขที่ว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น จำนวนผู้ที่ทำร้ายตัวเอง (หรือฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ) ยังมีมากกว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ ประมาณ 10 กว่าเท่า
เมื่อเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องเร่งลดอัตราการฆ่าตัวตายทั่วโลกลง องค์การอนามัยโลกจึงกำหนดให้ทุกวันที่ 10 กันยายนของทุกปี เป็น “วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก” (World Suicide Prevention Day) โดยประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.2003 หรือ 15 ปีที่แล้ว
...
ทั้งนี้ ก็เพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักว่า การฆ่าตัวตาย เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้
สำหรับในประเทศไทย นอกจากได้กำหนดให้ “ดอกสะมาเรีย” ดอกไม้สีขาว เป็นสัญลักษณ์ของการป้องกันการฆ่าตัวตาย กระทรวงสาธารณสุขยังร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเดินหน้ารณรงค์ป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยได้จัดบริการให้คำปรึกษาแนะนำทางด้านสุขภาพจิต กับผู้ที่มีภาวะเครียด หรือมีปัญหา พร้อมทั้งให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า
ไม่ว่าจะเป็นการพยายาม หาสิ่งยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ สร้างความมั่นคงให้กับจิตใจ ฝึกทักษะในการแก้ปัญหาชีวิต ปัญหาส่วนตัว และความขัดแย้งต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดการคิดสั้น
จนทุกวันนี้ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จโดยรวม ลดลงเมื่อเทียบกับอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศแถบเอเชีย ถือว่า ประเทศไทยมีตัวเลขของการฆ่าตัวตายต่ำกว่าหลายประเทศ
แต่ถึงแม้สถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทยจะอยู่ในระดับต่ำก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะปัญหาการฆ่าตัวตาย ไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อคนใกล้ชิดของผู้ที่คิดสั้นเอง ยังก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะหากผู้ที่ฆ่าตัวตายอยู่ในวัยทำงาน
สุภาณี ปลื้มเจริญ แห่งสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า สถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทย ได้ถูกรวบรวมไว้โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มาเป็นเวลา 2 ทศวรรษแล้ว ลองมาดูกันว่าตัวเลขเหล่านี้บอกอะไรได้บ้าง...
จาก ปี 2540-2560
วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 ได้ส่งผลให้คนไทยทุกหย่อมหญ้าได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ และควันหลงจากวิกฤตการณ์ในครั้งนั้น ซึ่งหลายครอบครัวได้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากการฆ่าตัวตายในช่วงนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทย มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในรอบ 20 ปี คือ มีอัตราการฆ่าตัวตาย เท่ากับ 8.59 เมื่อปี 2542
หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งผ่านพ้น อัตราการฆ่าตัวตายในเมืองไทยเริ่มลดลงตามลำดับ กระทั่งลดลงมาต่ำสุดเหลือเพียงแค่ 5.77 เมื่อปี 2549 แต่หลังจากลดลงต่ำสุดได้แค่ปีเดียว ก็กลับไปเริ่มไต่ระดับสูงขึ้นอีกครั้ง จนอัตราการฆ่าตัวตายพุ่งขึ้นเป็น 6.47 ในปี 2558 และ 6.35 ในปี 2559 ตามลำดับ
ชายหรือหญิงมากกว่ากัน
สำหรับเมืองไทย เพศชายมีการฆ่าตัวตายมากกว่าเพศหญิง โดยมีความแตกต่างอย่างชัดเจน คือ เพศชายมีอัตราการฆ่าตัวตาย ตั้งแต่น้อยที่สุดคือ 9.24 เมื่อปี 2549 ไปจนถึงมากที่สุดคือ 13.32 เมื่อปี 2542 ส่วนเพศหญิงมีอัตราการฆ่าตัวตายน้อยที่สุดเท่ากับ 2.48 ในปี 2558 และมากที่สุดคือ 3.91 เมื่อปี 2542
วัยไหนมากกว่ากัน
ช่วงอายุที่มีการฆ่าตัวตายสูง คือ อายุระหว่าง 20-39 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญ คือ วัยแรงงาน เป็นกำลังหลักของครอบครัวและประเทศชาติ แม้ว่าการฆ่าตัวตายในกลุ่มนี้มีจำนวนมากกว่ากลุ่มอื่น แต่ก็มีสัญญาณที่ดีอย่างหนึ่ง คือการฆ่าตัวตายในกลุ่มนี้มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ จากตัวเลขระดับหลักพันราย ลงมาสู่หลักร้อยราย
ในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป พบว่า มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นในแต่ละปี โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่ยากจะคาดคิดได้ว่า เหตุใดผู้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนสู่บั้นปลายของชีวิตขนาดนี้ จึงคิดสั้นจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย...
“แม้จะมีตัวเลขการฆ่าตัวตายจำนวนไม่มาก หรืออยู่ที่หลักสิบรายมาตลอด ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา จนมาทะลุหลักร้อยราย (124 ราย) เพียงปีเดียว คือ เมื่อปี 2558 แต่ตัวเลขของการฆ่าตัวตายของคนวัยนี้ก็เป็นไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล และเป็นอีกประเด็นที่สังคมควรให้ความสนใจ”
...
จังหวัด/ภาคใด ครองแชมป์ 10 อันดับแรก
สุภาณีบอกว่า ตั้งแต่ปี 2542-2559 จังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดติดอันดับหนึ่งในสิบมาอย่างต่อเนื่อง มักเป็นจังหวัดในภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด ในช่วงปี 2542-2544 แต่ช่วงปี 2545-2559 จ.ลำพูน ขยับขึ้นมาติดอันดับสูงสุดแทน ยกเว้นในปี 2552, 2555 และ 2559 เท่านั้น ที่ถูกทำลายสถิติโดย จ.เชียงราย น่าน และ จันทบุรี
ตัวเลขเหล่านี้ชี้ชวนให้น่าสนใจว่า เพราะเหตุใดภาคเหนือซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม อากาศเย็นสบาย ผู้คนมีวิถีชีวิตที่ไม่ต้องเร่งรีบนัก กลับมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าจังหวัดในภาคอื่น
จะให้อัตราการฆ่าตัวตายในสังคมไทยลด ครอบครัวซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญสุด ควรจะเฝ้าระวัง และพูดคุยให้กำลังใจคนในครอบครัวตัวเองให้มากขึ้น ชุมชน กรมสุขภาพจิต และ หน่วยงานเกี่ยวข้อง ก็ต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ให้ความรู้และทักษะในการแก้ปัญหาชีวิตแก่ประชาชนด้วย.