รางวัลวรรณกรรม “พานแว่นฟ้า” จัดประกวดมาตั้งแต่ พ.ศ.2545 จุดประสงค์สำคัญก็คือ เพื่อส่งเสริมความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ขับเคลื่อนโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีเงินรางวัลมูลค่ารวม 680,000 บาท พร้อมโล่รางวัลพานแว่นฟ้าและเกียรติบัตร
การประกวดใน พ.ศ.2561 คณะกรรมการได้คัดเลือกเพื่อพิจารณาตัดสินแล้ว ประเภทเรื่องสั้นมีภาพรวมและลักษณะเนื้อหาเป็นอย่างไร ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัลพานแว่นฟ้าบอกว่า เรื่องสั้นปี พ.ศ. 2561 ในส่วนที่กรรมการคัดสรรมาให้ 28 เรื่อง เนื้อหาตอบโจทย์ ในการประกวดคือ ส่งเสริมความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย
“นักเขียนตีโจทย์ได้ละเอียดขึ้น ไม่ได้พูดถึงประชาธิปไตยแบบพื้นผิว แบบตื้นๆเหมือนเก่าแล้ว แต่มองไปถึงว่า ปรัชญาสำคัญในการเป็นประชาธิปไตยมันไม่ได้อยู่ที่การหย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้น แต่พูดถึงหน้าที่ของตนเองที่มีต่อสังคม ต่อครอบครัว ต่อประเทศชาติ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้ความสำคัญกับการเข้าใจซึ่งกันและกัน เรื่องที่ผ่านเข้ารอบมีทั้งประเด็นเรื่องปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความขัดแย้งในสังคม ประวัติศาสตร์ความเป็นมาว่าสิ่งเหล่านี้มันเวียนกลับมาเรื่อยๆ ตราบใดที่ประชาชนยังไม่ได้ตระหนักในหน้าที่ของตนเองที่มีต่อประเทศชาติ”
เนื้อหาในปีนี้ดี “ส่วนกลวิธีในการเขียน เขาตกผลึกในเรื่องความคิดทางการเมืองแล้ว เขาก็มีกลวิธีในการเสนอความคิดของเขาออกมา หลายเรื่องนำเสนอแบบง่ายๆ แต่ก็เป็นในแง่ดีคือ ง่ายและงาม มีอีกกลุ่มที่มีกลวิธีที่ซับซ้อน มีความตั้งใจในการสร้างและซ่อนเงื่อน แล้วก็แทบจะทั้งหมดใช้สัญลักษณ์ ไม่เป็นสัญลักษณ์ชั้นเดียว แต่อาจจะตีความได้หลายๆมิติ เนื้อหาปัจจุบันยังมีเรื่องความขัดแย้งกันอยู่ แต่หวังว่าจะมีประชาธิปไตย มีการตั้งคำถามว่า ที่เรียกร้องประชาธิปไตยในปัจจุบันนั้น เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือเปล่า นักเขียนเขาคิดละเอียดมากขึ้น”
...

การพิจารณาให้รางวัล “อันดับแรกเลยคือ ต้องเป็นไปตามโจทย์ที่เราตั้งไว้ บางเรื่องนักเขียนเขียนตามความพอใจ ใช้วิธีการของเรื่องสั้น แต่มันไม่ตอบโจทย์โดยตรง แต่ก็เป็นเรื่องสั้นที่ดี ในเมื่อเราจัดประกวดตามหัวข้อ ก็ต้องเป็นไปตามหัวข้อ และโจทย์เราก็กว้างมาก แล้วแต่ว่านักเขียน จะตีความอย่างไร การให้โจทย์กว้างๆ เป็นการเปิดโอกาสให้คิดได้เต็มที่ เมื่อก่อนมักเน้นกันแต่การเลือกตั้ง แต่ประชาธิปไตยมันมีอะไรมากกว่านั้น ซึ่งปีนี้นักเขียนที่ส่งเข้ามาให้พิจารณาตีความได้เป็นอย่างดี”
อันดับที่สอง “ต้องมีวิธีการนำเสนอที่ดี ด้วยศิลปะกลวิธีนำเสนอที่ดีด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องซับซ้อน ง่ายๆก็ได้ แต่ให้มันถึงเท่านั้นเอง”
ประเด็นที่สาม “เรามองว่ามันต้องมีพลังที่จะกระตุ้นให้คนอ่านเกิดสำนึกเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่อ่านจบแล้วจบเลย ต้องให้คิดต่อหรือให้คนอ่านทำอะไรต่อ”
ความมุ่งหวังที่จะปลูกจิตสำนึกในสิทธิ หน้าที่ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยนั้น แท้จริงแล้วยุคนี้สมัยนี้ เชื่อว่าอำนาจของวรรณกรรมมีผลต่อประเด็นนี้อย่างไร อาจารย์บอกว่า ประเด็นนี้มีคนเชื่อแยกออกเป็น 2 กระแสคือ หนึ่ง เชื่อว่าวรรณกรรมมีอิทธิพลต่อสังคมและสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ อีกกระแสหนึ่งคือ วรรณกรรมคือการประกอบสร้างของภาษา ของศิลปะ วรรณกรรมไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนสังคม “เรื่องนี้ก็แล้วแต่คนจะเชื่ออย่างไหน”
แต่ “สำหรับที่เราประกวดวรรณกรรมอยู่ทุกวันนี้ เพราะเรามีความเชื่อ ว่า วรรณกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ไม่มากก็น้อย และอาจจะต้องใช้เวลายาวนาน โอกาสที่ว่าจะอ่านแล้วอินในเรื่องกระตุ้นจิตสำนึกได้ แม้จะเกิดกับคนหนึ่งคน เพียงแค่ว่าเขาทำตัวเป็นพลเมืองดีหนึ่งคน และอีกคนเพิ่มขึ้นมา พลังมันก็จะเกิดขึ้นมาเอง แต่เราหวังจะให้เกิดวันนี้พรุ่งนี้คงเป็นไปไม่ได้ ต้องรอเวลา แต่เชื่อว่าทุกเวทีที่ประกวดเชื่อในพลังของวรรณกรรม”
ในส่วนของบทกวี เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัลพานแว่นฟ้าประเภทบทกวีบอกว่า “ด้านบทกวี ที่ได้รางวัลปีนี้ โดยทั่วไปโดดเด่นในเรื่องเนื้อหา และพิเศษคือ กลายเป็นว่าเป็นบทกวีที่ไม่มีฉันทลักษณ์หรือที่เรียกว่ากลอนเปล่าเข้ามาได้รางวัล เราพิจารณาเรื่องโวหารกวีและเนื้อหาเป็นหลัก ส่วนที่ได้รองๆไปเป็นเรื่องของฉันทลักษณ์ ฉันทลักษณ์นั้นช่วยให้เกิดความไพเราะ สละสลวย ให้เป็นบทกวีที่สมบูรณ์ กวีที่เขียนมาเนื้อหาอาจจะหลากหลายต่างกันไป ประเด็นเรื่องประชาธิปไตย เราจะเห็นว่าแต่ละคนมองต่างกัน บางคนมองจุดใดจุดหนึ่ง อย่างเรื่องสามัคคี เรื่องสิทธิ เรื่องหน้าที่ เรื่องการยอมรับความเห็นต่าง เรื่องการยอมรับอำนาจ นี่คือความหลากหลาย ซึ่งทำให้รวมแล้วยังไม่เข้าถึงหัวใจประชาธิปไตยที่แท้จริง หัวใจของประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยรวมคือการมีส่วนร่วมของประชาชาชนทั้งหมด ซึ่งเป็นลักษณะของธรรมาธิปไตย”
ดังนั้น “การพูดแต่ละด้านละมุมทำให้ไม่เห็นองค์รวมเท่าที่ควร แต่คิดว่าการประกวดเป็นการกลั่นกรอง เป็นการพัฒนาคุณภาพของงานกวีให้พัฒนาขึ้นมา ในขณะที่ในปัจจุบันวงวรรณกรรมเราอยู่ในลักษณะที่เรียกว่าวิกฤติ เพราะเวทีลงตีพิมพ์เหลือน้อยลง หนังสือ นิตยสารลดลงไปมาก เหลือเวทีจอแผ่น และเวทีประกวดเท่านั้น เวทีประกวดเป็นเวทีที่เปิดกว้างมากกว่าเวทีอื่นๆ คนให้ความสนใจเข้ามาสู่เวทีนี้กันมาก ซึ่งก็เป็นผลดี เพราะจุดนี้จะทำให้วงการกวีพัฒนาขึ้นไป”
...
บทกวีรางวัลพานแว่นฟ้า บทกวีที่ส่งเข้ามาจะเป็นบทกวีฉันทลักษณ์หรือไม่มีฉันทลักษณ์ก็ได้ แต่ขอให้บทกวีที่เขียนนั้นเขียนได้ “ถึง” เนาวรัตน์บอกว่า “ผมอยากจะบอกว่า จะเป็นบทกวีฉันทลักษณ์หรือไร้ฉันทลักษณ์ก็ได้ แต่บทกวีที่ไร้ฉันทลักษณ์ไม่ใช่เขียนง่าย มันเขียนยากแม้มันจะไม่มีรูปแบบ”
“เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่มีอะไรไร้รูปแบบหรอก รูปแบบของไร้ฉันทลักษณ์ไม่ได้แปลว่าไม่มี ไม่ใช่ว่าพอว่าไม่มีฉันทลักษณ์จะไม่มีรูปแบบ ไม่ใช่ มันก็มีรูปแบบโดยตัวของมันเอง ที่สำคัญมันต้องมีโวหารกวี โวหารกวีมันจะเฉิดฉายออกมาเองจากถ้อยคำ สำนวน ลีลาการนำเสนอ มันจะเฉิดฉายประกายกวี มันจะสัมผัสใจได้ แม้จะไม่มีฉันทลักษณ์ก็ตาม แต่ถ้าทำไม่ถึงก็อาจเป็นได้แค่คำเรียง ความเรียงเท่านั้นเอง”

ตัวอย่างบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ที่เข้าสู่รอบสุดท้าย สำนวนชื่อ ธงชาติผืนเก่า
“พ่อสอนให้ฉันร้อยเส้นด้ายเล็กๆ สีขาวเพื่อเชื่อมรอยขาดเข้าหากัน ฉันเชื่อมรอยขาดตรงริมผ้าสีแดงให้ติดกับผ้าสีขาว ฉันเชื่อมรอยขาดตรงริมผ้าสีขาวให้ติดกับผ้าสีน้ำเงิน พ่อบอกว่า ด้ายสีขาวนั้นเป็นตัวแทนของฉันและเราทุกคนในชาติ เมื่อผืนธงชาติถูกซ่อมให้สมบูรณ์ ฉันถามพ่อว่า แล้วเราจะทำอย่างไงกับสีที่ซีดจาง และมีรอยเปื้อนนี่ล่ะ พ่อเงียบไปครู่หนึ่งแล้วบอกฉันว่า พ่อไม่เคยนำมันไปย้อมสี หรือซักให้สะอาด เพราะถึงมันจะเก่ามันก็คือธงชาติอย่างที่มันเป็นนั่นแหละ ฉันทำหน้างงๆ ไม่เข้าใจที่พ่อพูดสักเท่าใดนัก ฉันได้แต่หวังว่าเมื่อโตขึ้นฉันจะเข้าใจความหมายในสิ่งที่พ่อพูด ฉันได้แต่หวังว่าเมื่อโตขึ้นฉันจะเข้าใจในสิ่งที่พ่อทำ”
...
ตัวอย่างบทกวีที่เข้ารอบสุดท้ายที่เขียนด้วยฉันทลักษณ์ สำนวนชื่อ พลเมืองคือเจ้าของประชาธิปไตย เช่น “เรามีสิทธิ์เสรีอยู่ในมือ นั่นแหละคืออาวุธที่ล้ำค่า เท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีที่เกิดมา ต่างเชื้อชาติศาสนาไม่สำคัญ...”
สำหรับรายละเอียดของรางวัลนั้น ประเภทเรื่องสั้นและประเภทบทกวีเหมือนกันคือ รางวัลชนะเลิศ 1 รางวัล เงินรางวัล 60,000 บาท โล่รางวัลพานแว่นฟ้า และเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศ 2 รางวัล เงินรางวัล 40,000 บาท โล่รางวัลพานแว่นฟ้า และเกียรติบัตร รางวัลชมเชย 10 รางวัล เงินรางวัล 20,000 บาท และเกียรติบัตร
เหนือรางวัลพานแว่นฟ้าไม่ว่าจะเป็นเงินหรือเกียรติบัตร คือการปลูกจิตสำนึกให้คนไทยตระหนักในสิทธิและหน้าที่ของตนเองในการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ส่วนผลสัมฤทธิ์จะได้แค่ไหนเพียงใดนั้น ต้องเฝ้าดูกันต่อไป.