ภาวะโลกร้อนทำให้ฤดูกาลต่างๆเปลี่ยนไป ประเทศไทยหลังจากที่ได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน เซินติญ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลให้มีฝนตกหนักทั่วประเทศ มีระยะเวลาของฤดูฝนมากขึ้น ปริมาณน้ำฝนก็เพิ่มขึ้น นักอุตุนิยมวิทยาถึงกับคาดกันว่า ฤดูฝนในประเทศไทยจะยาวนานถึง 5 เดือน เพราะฉะนั้นปริมาณน้ำในเขื่อน อ่างเก็บน้ำหลายแห่งจึงมี ปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง กรมชลประทาน และ กฟผ. มั่นใจว่า ปริมาณน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริหารจัดการได้ และให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า เขื่อน กฟผ. ยังรองรับปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝนปีนี้ได้อย่างเพียงพอ โดยมีการสำรวจความแข็งแรงมั่นคง มีการตรวจสอบและบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องได้มาตรฐาน

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้สั่งการให้มีการตั้ง ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ มีการสั่งการให้เร่งระบายน้ำเพื่อลดระดับน้ำในเขื่อนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งกรณีนี้ กฟผ. ได้ส่งทีมไปประจำอยู่ที่ศูนย์ดังกล่าว เพื่อวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำประกอบการตัดสินใจร่วมกับหน่วยงานอื่นๆในการระวังป้องกันและอพยพประชาชนได้ทันท่วงที ตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้สั่งการให้เตรียมพื้นที่รับน้ำเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาอย่างหนักในอีก 2 เดือนข้างหน้า

ส่วนที่เป็นกังวลว่าจะเกิด ปัญหาเขื่อนแตก เช่นเดียวกับใน สปป.ลาว นั้น ทาง กฟผ.ยืนยันว่า เขื่อนทุกแห่งได้รับการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด มีการระบายน้ำตามคำแนะนำของ กรมชลประทานและคณะอนุกรรมการติดตามวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ประสานงานกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแต่ละจังหวัด โดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม การจะระบายน้ำแต่ละครั้ง ได้มีการส่งหนังสือไปแจ้งให้กับ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้นำท้องถิ่น และประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้ได้ทราบล่วงหน้าด้วย

...

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนได้ที่ water.egat.co.th และจากแอปพลิเคชัน EGAT Water จากกล้อง CCTV ได้แบบ Real Time และสามารถค้นหาข้อมูลที่ต้องการจะทราบได้ตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน

ข่าวลือต่างๆที่เกิดขึ้น ล้วนแต่ไม่เป็นความจริง ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก เช่น เขื่อน กฟผ.ไม่ได้ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนตามที่แชร์กัน การตรวจสอบประจำสัปดาห์ เขื่อนทุกเขื่อนมีสภาพที่แข็งแรงปกติ นอกจากนี้ กฟผ.ได้มีการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยของเขื่อน ที่ประกอบไปด้วยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาในทุกๆ 2 ปี พร้อมทั้ง กฟผ.ยังนำเครื่องมือตรวจสุขภาพเขื่อน หรือ DS-RMS มาใช้ด้วย เป็นระบบที่ทันสมัยจากความร่วมมือของ กฟผ.และเนคเทคเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจอีกระดับสามารถที่จะแจ้งความผิดปกติโดยอัตโนมัติอย่างรวดเร็ว

รับรองเอาอยู่แน่นอน.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th