“1 กรกฎาคมนี้ หากพบคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับ 5,000-50,000 บาท พร้อมส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับโทษ...”
นายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับ 10,000-100,000 บาท/คนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี หากแรงงานต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานในประเทศไทย จะต้องเข้ามาในรูปแบบการนำเข้าตามระบบ MOU เท่านั้น

เสียงย้ำเตือนหนักแน่นจาก พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประธานการประชุมติดตามและเร่งรัดการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวและการดำเนินการของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เมื่อ 8 มิถุนายน 2561
แต่ทว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้เปิดเผยยอดตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมและดำเนินคดี “นายจ้าง” และ “แรงงานต่างด้าว” หลังปิดศูนย์ OSS เพียง 3 วัน พบว่ามีการกระทำผิดกว่า 100 ราย นายจ้างกว่า 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นเมียนมา
...

อนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน บอกว่า ชุดปฏิบัติการ 113 ทีม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน ตำรวจ ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ที่ร่วมกันออกตรวจสอบ ตั้งแต่ 1-3 กรกฎาคม 2561 เพียง 3 วัน...สามารถตรวจสอบนายจ้าง สถานประกอบการได้ 298 ราย พบมีการกระทำความผิด 26 ราย
แบ่งเป็นดำเนินคดีในข้อหารับคนต่างด้าว ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 22 ราย และดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จำนวน 4 ราย
ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว 2,879 คน พบกระทำความผิด 118 คน...เป็นเมียนมา 94 คน...ลาว 7 คน ...กัมพูชา 8 คน...เวียดนาม 7 คน และอื่นๆอีก 2 คน
แบ่งเป็นดำเนินคดีในข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานจำนวน 58 คน แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
และดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จำนวน 60 คน อนุรักษ์ ย้ำว่า คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับ 5,000- 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไป นอกราชอาณาจักร
ที่สำคัญยัง...ห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับโทษ
ส่วน “นายจ้าง” ที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี
หากผู้ใดพบคนต่างด้าวทำงานผิดกฎหมายหรือพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือโทร. 0-2354-1729 หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทร.ไปที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบต่อไป
ย้อนไปก่อนหน้าที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ในวันที่มีการแถลงผลปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ระยะที่ 2 สะท้อนตัวเลขเป็นที่น่าพอใจ ด้วยมีแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา มาจัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานทั้งสิ้น 347,067 คน คิดเป็น 99.73%
แยกย่อยเป็นกัมพูชา 156,569 คน ลาว 18,210 คน เมียนมา 172,288 คน...จากการดำเนินการที่ผ่านมา มีแรงงานฯที่ต้องเข้าศูนย์ OSS ตามมติ ครม. 16 มกราคม 2561 จำนวน 1,320,035 คน ดำเนินการไปแล้วภายใน 31 มีนาคม 2561...840,736 คน และต่อมาได้มีการขยายเวลาให้เสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2561
ศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสระยะที่ 2 มีเป้าหมาย 348,022 คน สรุปตัวเลขมียอดแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบถูกต้องตามกฎหมาย 1,187,803 คน คิดเป็นร้อยละ 90...เป็นกัมพูชา 350,840 คน ลาว 59,746 คน เมียนมา 777,217 คน
ผลสำเร็จนี้ทำให้ “แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ” ที่เดิมทำงานอยู่ โดยไม่ได้รับอนุญาตและได้รับการผ่อนผันมาตั้งแต่ปี 2558 ได้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องแล้ว ในส่วนที่ไม่ได้เข้าระบบก็จะเปลี่ยนสถานภาพการทำงานในรูปแบบอื่น เช่น MOU Borderpass จ้างงานตามฤดูกาล
...

เงื่อนปัญหาแรงงานต่างด้าวมีหลากหลายมิติจะต้องได้รับการแก้ไขคลี่คลายไปทีละเปลาะ นับรวมไปถึงกรณีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาแย่งงานคนไทย อีกทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ต้องมองปัญหาให้รอบด้าน
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Trading Economics.com และ Index mundi.com รายงานอัตราการว่างงาน 215 ประเทศ จากการเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศทั่วโลก ปรากฏว่า เรามีอัตราการว่างงานน้อยที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก...ด้วยประชากรราว 66,200,000 คน มีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.2
ขณะที่ประเทศในแถบยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส ซึ่งมีประชากร 67,200,000 คน มีอัตราการว่างงานร้อยละ 9.2...ประเทศอังกฤษ มีประชากร 65,650,000 คน มีอัตราการว่างงานร้อยละ 4.2...ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกามีประชากร 325,000,000 คน มีอัตราการว่างงานร้อยละ 3.9
ขณะเดียวกัน ประเทศจีนซึ่งมีประชากรมากถึง 1,385,260,000 คน มีอัตราการว่างงานร้อยละ 3.89...ประเทศญี่ปุ่นมีประชากร 126,672,000 คน มีอัตราการว่างงานร้อยละ 2.5
...
เหลียวมองมายังประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย มีประชากร 32,200,000 คน มีอัตราการว่างงานร้อยละ 3.3...ประเทศสิงคโปร์มีประชากร 5,600,000 คน มีอัตราการว่างงานร้อยละ 2.0
อนุรักษ์ อธิบดีกรมการจัดหางาน มองว่า การว่างงานเกิดจากองค์ประกอบต่างๆ เช่น การเลือกเรียนในสายที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ผู้สำเร็จการศึกษาบางส่วนยังไม่ต้องการหางานทำเนื่องจากอยู่ในช่วงของการตัดสินใจ...ผู้สำเร็จการศึกษาบางส่วนประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยรับช่วงต่อจากครอบครัว
ทว่าปัญหานี้...จะนิ่งนอนใจไม่ได้ กรมได้รวบรวมตำแหน่งงานว่างของนายจ้าง...สถานประกอบการต่างๆที่มีความต้องการจ้างงานผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี รวมทั้งการทดสอบความพร้อมทางอาชีพ เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกตัดสินใจสมัครงานหรือประกอบอาชีพอิสระต่างๆ นอกจากนี้ยังมีบริการแนะแนวอาชีพแก่นักเรียนที่จะจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาได้ทราบถึงอาชีพ ลักษณะอาชีพที่อยู่ในความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อเลือกสาขาที่เรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มีตลาดแรงงานรองรับอีกด้วย
อนาคตประเทศไทย...“ไทยแลนด์ 4.0” ผูกโยงฝากไว้กับ “แรงงาน” โดยเฉพาะแรงงานพันธุ์ใหม่ที่จะมีส่วนช่วยหนุนนำขับเคลื่อนไปสู่ฝั่งฝันอย่างที่ตั้งใจไว้.