ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ - ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์
วท.เปิดยุทธศาสตร์ "สร้างระบบนิเวศ-แก้กฎหมาย" เอื้อสตาร์ตอัพไทย
“โอกาสที่ไม่สิ้นสุดของทุกคน”
ไฮไลต์ของการจัดงาน “สตาร์ตอัพไทยแลนด์ ประจำปี 2561” โดย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) งานใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มุ่งสร้างความแข็งแกร่งให้นักรบเศรษฐกิจพันธุ์ใหม่ของไทย ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-20 พ.ค.นี้ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

กระแสตื่นตัวของสตาร์ตอัพในประเทศไทยขยายสู่วงกว้างและเติบโตต่อเนื่อง มีสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพดีเยี่ยมและสตาร์ตอัพดาวรุ่งมากมาย ดึงเม็ดเงินจากนักลงทุนภายในและต่างประเทศ รวมถึง 4.4 หมื่นล้านบาท
ที่สำคัญ “กรุงเทพฯ” ถูกยกย่องให้เป็นเมืองที่ดีที่สุดสำหรับสตาร์ตอัพ อันดับ 1 ในเอเชียและอันดับ 7 ของโลก
นั่นเท่ากับเป็นการประกาศให้โลกรู้ว่าประเทศไทยมีสตาร์ตอัพที่มีคุณภาพ
สถานะของสตาร์ตอัพวันนี้ คือ นักรบทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่ หน้าที่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คือ ผู้สร้างและสนับสนุนโอกาสให้เกิดธุรกิจนี้
...

การสร้าง “ระบบนิเวศ” โดยการปรับปรุงกฎหมายที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจสตาร์ตอัพ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด
“หัวใจของงานสตาร์ตอัพปีนี้ คือ การแก้กฎหมาย ที่ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญ เพราะสตาร์ตอัพ คือ เรื่องวิธีคิด วิธีการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างจากขนบการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ดังนั้น ระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยจะทลายอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจนี้ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯจะเสนอแก้กฎหมาย 2 ฉบับ คือ กฎหมายส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น หรือพ.ร.บ.สตาร์ตอัพ โดยแยกออกจาก พ.ร.บ.เอสเอ็มอี พร้อมมุ่งเน้น 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ลดอุปสรรคในการทำธุรกิจทั้งของไทยและชาวต่างชาติ โดยสตาร์ตอัพต่างชาติสามารถจดทะเบียนได้ 100% ซึ่งแต่เดิมในการจัดตั้งธุรกิจและถือหุ้นซึ่งอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 กำหนดให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้น 49% นักลงทุนไทย 51% 2.ทำให้สตาร์ตอัพเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย สามารถขอแหล่งเงินทุนกับภาครัฐได้ 3.ส่งเสริมการขยายการลงทุนสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียหรือตลาดโลกให้ได้ และ 4.ส่งเสริมให้สตาร์ตอัพเติบโตแบบก้าวกระโดด เพื่อให้มีศักยภาพในการเติบโตสู่ตลาดโลก โดยการผลักดันเรื่องโปรแกรมเร่งสร้างการเติบโตและโปรแกรมบ่มเพาะ” ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวถึงการแก้กฎหมายที่เตรียมเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆนี้

ส่วนกฎหมายอีกฉบับ คือ พ.ร.บ. Regulatory sandbox หรือการทดสอบกฎระเบียบสำหรับสตาร์ตอัพ โดยมีข้อกำหนดเฉพาะและระยะเวลาที่จำกัดให้ครอบคลุมสตาร์ตอัพทุกประเภท นอกจากนี้ ยังมีการสร้างตลาดให้แก่สตาร์ตอัพ เพื่อเปิดโอกาสให้สตาร์ตอัพเข้าร่วมประมูลงานจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐได้ ซึ่งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กำลังหารือกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อแก้ไขระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง
“สนช.จะพูดคุยกับทางฝั่งสตาร์ตอัพที่ติดปัญหาไม่สามารถประมูลงานภาครัฐได้เพื่อกำหนดโจทย์ว่าควรแก้ไขอย่างไร และคาดว่าจะต้องหารือกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ด้วย ทั้งนี้ สนช.มองว่าสตาร์ตอัพหลายรายมีศักยภาพพอที่จะสนับสนุนงานบริหารจัดการภาครัฐและงานบริการสาธารณะอยู่แล้วในด้านต่างๆ เช่น กลุ่มที่พัฒนาด้านระบบบัญชี เทคโนโลยีภาคเกษตร เทคโนโลยีการแพทย์ การจัดการข้อมูล เป็นต้น การดึงสตาร์ตอัพเข้ามาช่วยในระบบบริหารของรัฐเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ โดยโมเดลการทำงานของประเทศต้นแบบที่คาดว่าจะนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้ คือสหรัฐฯและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เรามองว่าในประเทศไทยอาจจะนำมาปรับใช้กับฝ่ายบริหารราชการส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาลองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อช่วยในการบริการประชาชน” ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผอ. สนช.กล่าว
...
นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯจะพัฒนาระบบนิเวศด้วยการออก SMART VISA วีซ่าประเภทพิเศษ ซึ่งครอบคลุมถึงชาวต่างชาติที่จะเข้ามาก่อตั้งสตาร์ตอัพในไทยสามารถอยู่อาศัยได้นาน 1 ปี ซึ่งจากเดิม 90 วัน เริ่มเปิดให้ขอวีซ่านี้ได้แล้วตั้งแต่ 1 ก.พ.2561 ซึ่งจะช่วยให้สตาร์ตอัพสามารถเติบโตสู่เวทีโลกได้

การจัดซื้อจัดจ้างเชิงวิจัยภาครัฐ กำลังจะเสนอเรื่องเข้า ครม. ซึ่งจะทำให้ภาครัฐสามารถออกโจทย์งานวิจัยนวัตกรรมที่ต้องการและออกงบประมาณวิจัย โดยให้สตาร์ตอัพเป็นผู้มาพัฒนา
การออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งอนุญาตให้มหาวิทยาลัย ธุรกิจขนาดเล็ก หรือองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่ใช้งบประมาณรัฐในการวิจัย สามารถเป็นเจ้าของสิทธิบัตรนวัตกรรมนั้นๆได้ แตกต่างจากเดิมที่นวัตกรรมเหล่านั้นต้องตกเป็นของรัฐ
ตลอดจนการพัฒนาย่านนวัตกรรมต้นแบบ คือ ย่านนวัตกรรมโยธี ให้เป็นศูนย์กลางทางด้านการบริการทางการแพทย์กับย่านนวัตกรรมปุณณวิถี ศูนย์กลางด้านดิจิทัล
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ เห็นด้วยกับการพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ตอัพ เพื่อให้สตาร์ตอัพไทยแข็งแกร่งขึ้น สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ สร้างเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้ได้จริง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมสาขาต่างๆของประเทศ และสตาร์ตอัพน่าจะต้องช่วยตอบโจทย์ “แก้จน-สร้างคน-เสริมแกร่ง” ให้กับประเทศด้วย
...
และหากสามารถก้าวไปถึงหัวใจของงานสตาร์ตอัพปีนี้ ที่ว่า... “โอกาสที่ไม่สิ้นสุดของทุกคน” ได้จริง
ประเทศไทยอาจเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่จะหลุดพ้นจากสภาพ “รวยกระจุก จนกระจาย” อย่างทุกวันนี้.
ทีมข่าววิทยาศาสตร์