ในตำราสมุนไพรระบุว่า หัวของ “ว่านนางคำ” แบบสดฝนกับน้ำทาแก้ผื่นคันตามร่างกายได้ชะงัดนัก หรือหัวสดตำผสมเหล้าขาว 40 ดีกรี เป็นกระสายยาหรือใส่ลงไปเล็กน้อยพอกเป็นยาแก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอกตามร่างกายและตามข้อได้ดีมาก ส่วนรากของ “ว่านนางคำ” แบบสดกะจำนวนตามต้องการต้มกับน้ำจนเดือด ดื่มเป็นยาขับเสมหะและเป็นยาสมานแก้ท้องเสีย แก้โรคหนองในเรื้อรังได้ นอกจากนั้น “ว่านนางคำ” ยังมีคุณสมบัติพิเศษตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์คือ คนโบราณจะนำเอาหัวสด หรือตากแห้งของ “ว่านนางคำ” เขียนภาพต่างๆและใช้เป็นสีย้อมผ้าได้อีกด้วย ซึ่งคนในยุคสมัยนั้นถือกันว่าว่านดังกล่าวเป็นว่านศักดิ์สิทธิ์ ก่อนจะนำหัวไปใช้ประโยชน์แต่ละครั้งจะต้องว่าคาถากำกับ “นะโมพุทธายะ” ก่อนทุกครั้ง
ว่านนางคำ เป็นไม้อยู่ในวงศ์เดียวกับขิงคือ มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ล้มลุกมีหัวใต้ดิน ลำต้นแทงขึ้นจากหัว หัวมีขนาดใหญ่ เนื้อในหัวเป็นสีเหลืองเข้มหรือสีเหลืองทอง มองเห็นชัดเจน มีกลิ่นหอมแบบเฉพาะตัว เมื่อหักหรือตำจะได้กลิ่นทันที มีรสชาติฝาด ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ใบมีขนาดเท่ากับใบของว่านคันทมาลา กระดูกใบและขอบใบส่วนใหญ่จะเป็นสีแดงหรืออาจไม่เป็นสีแดงเลย โคนก้านใบเป็นกาบหุ้มลำต้น ลำต้นเป็นสีเขียว เป็นไม้เจริญงอกงามในช่วงฤดูฝน ทรุดโทรมในช่วงฤดูหนาว โดยจะทิ้งหัวไว้ใต้ดิน เมื่อได้น้ำฝนโปรยปรายลงมาตามธรรมชาติจะเจริญงอกงามขึ้นมาอีกเป็นระบบนิเวศ ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหัว
มีหัวแท้ขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ตามร้านจำหน่ายว่านทั่วไป ราคาแต่ละแผงไม่เท่ากันต้องเดินต่อรองกันเอง การปลูก “ว่านนางคำ” ชอบดินร่วนปนทราย รดน้ำพอชุ่มหรือนิดหน่อยเช้าเย็น แต่ต้องระวังอย่าให้มีน้ำท่วมขังอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้หัวที่ปลูกเน่าตายได้ ตำราว่านระบุว่า ปลูกวันพฤหัสฯ ตอนข้างขึ้นแก่ๆจะให้คุณดีมาก เหมาะจะปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ตามที่กล่าวข้างต้น ซึ่งในยุคสมัยก่อนนิยมปลูกเพื่อขุดหัวขายให้ร้านยาแผนไทย สร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวอย่างสบายครับ.
...
“นายเกษตร”