มหาวิทยาลัยแม่โจ้วิจัยปรับปรุงพันธุ์ปลาลูกผสมบึกสยามแม่โจ้สำเร็จ ส่งต่อให้เกษตรกรทั้งในเชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ พัทลุง สงขลา นครปฐม สุพรรณบุรี เลี้ยงเป็นอาชีพและหาตลาดรับซื้อปลา แม้จะได้ราคาดี กก.ละ 70 บาท...แต่ปัจจุบันเกษตรกรกลับประสบปัญหาต้นทุนค่าอาหารสูง
“สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปลาป่นในธรรมชาติเริ่มมีปริมาณน้อย ส่งผลให้ราคาอาหารข้นในท้องตลาดแพงขึ้น เกษตรกรให้อาหารปลาน้อยลง ทำให้ปลาที่เลี้ยงคุณภาพเนื้อปลาไม่แน่น สีเนื้อปลาที่แล่ออกมาไม่สวย ไขมัน โปรตีน เปอร์เซ็นต์เนื้อปลาไม่ได้มาตรฐานอย่างที่วิจัยปรับปรุงพันธุ์ ลูกปลาโตไม่ได้ตามขนาด


...
คนเลี้ยงมักจะแก้ปัญหาปลาไม่โตตามเกณฑ์ ด้วยการใช้อาหารข้นเฉพาะระยะ 5-10 เดือนหลัง ในปริมาณมาก ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ผิด เพราะในช่วงใกล้จับขาย ปลาอายุได้ 10 เดือนจะกินอาหารมากและคายอาหารบางส่วนทิ้งไป นอกจากจะทำให้น้ำเสีย ต้นทุนยังสูง เพราะถ้า ต้องการให้ปลาโตได้ตามเกณฑ์ต้องเน้นให้ตั้งแต่ระยะ 5-7 เดือนถึงจะถูกต้อง”
เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุน รศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เม่งอำพัน คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หัวหน้าทีมวิจัย จึงได้พัฒนาสูตรอาหารที่เกษตรกรสามารถทำเองได้ เพื่อทดแทนอาหารข้นที่มีราคาแพง โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และ บมจ.เอส แอนด์ พี ซินดีเคท สนับสนุนทุนวิจัย

ดร.เกรียงศักดิ์ เผยถึงสูตรอาหารปลาเลี้ยงปลาบึกสยามแม่โจ้...ประกอบด้วย สาหร่ายน้ำจืด หนังปลาและกระดูกที่เหลือจากการแล่เนื้อไปขาย รวมทั้งปลาป่นเพื่อให้สูตรอาหารมีกรดอะมิโน ปลายข้าว รำ กากถั่วเหลือง นำทั้งหมดมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นปั้นขึ้นรูปเป็นเม็ด ผึ่งลมให้แห้ง ใช้เลี้ยงปลาช่วงอายุ 5 เดือนไปกระทั่งจับขาย
และเมื่อนำสูตรอาหารนี้ไปทดลองเลี้ยงปลาบึกสยามแม่โจ้ เปรียบเทียบกับการใช้อาหารข้นทั่วไปในบ่อของมหาวิทยาลัย ระหว่างปี 2558–2560 พบว่า สูตรอาหารบึกสยามแม่โจ้มีผลทำให้ปลาเจริญเติบโต คุณภาพเนื้อและการเจริญพันธุ์ดีกว่าอาหารข้น คุณภาพซากเนื้อแน่น สีเหลืองชมพูและไม่มีกลิ่นสาบโคลน


สูตรอาหารดังกล่าวจำนวน 100 กก. สามารถเลี้ยงปลา 100 ตัว มีต้นทุนอยู่ 2,000 บาท ในขณะที่ใช้อาหารข้นมีต้นทุน 2,500 บาท ช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรได้ 20%... เกษตรกรสนใจขอรับการอบรมผสมอาหารใช้เองได้ที่ 06-2242-2190, 08-8251-0739.
...
เพ็ญพิชญา เตียว