ดักแด้หนอนตัวไหมมีประโยชน์มากกว่าที่คิด กรมหม่อนไหมร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิจัยพบดักแด้หนอนไหมพันธุ์เหลืองสุรินทร์ มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งโรคมะเร็งในตับได้
ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของ นายวิโรจน์ แก้วเรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์หม่อนไหม กรมหม่อนไหม กล่าวว่า จากการตั้งข้อสังเกตชาวบ้านแถบภาคอีสานบริโภคดักแด้มาอย่างยาวนาน จะมีสุขภาพแข็งแรง อายุยืน ไม่มีปัญหาโรคภัย โดยเฉพาะมะเร็งตับ กรมหม่อนไหมจึงได้ร่วมกับ ผศ.ดร.รวิวรรณ วงศ์ภูมิชัย ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการศึกษาวิจัยสารสำคัญในสายพันธุ์ดักแด้ไหมไทย เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้วัสดุเหลือใช้ในภาคการเกษตร

โดยนำดักแด้ไหมไทยทั้ง 7 สายพันธุ์ พันธุ์นางน้อย, ศรีสะเกษ-1, พันธุ์สำโรง, พันธุ์นางตุ่ย×นางสิ่ว, พันธุ์นางน้อยศรีสะเกษ-1×สำโรง, พันธุ์อุบลราชธานี 60-35, พันธุ์เหลืองสุรินทร์ และพันธุ์ J108×นางลาย มาทำการศึกษาหาสารสำคัญ ทั้งในระยะหนอนไหม ระยะหนอนไหมสุก (ดักแด้) และศึกษาแยกหนอนไหมตัวผู้-ตัวเมีย แต่ละสายพันธุ์แต่ละระยะ และแต่ละเพศมีสารสำคัญอะไรบ้าง แตกต่างกันแค่ไหน
...

นายวิโรจน์ เผยถึงผลการสกัดสารสำคัญว่า ดักแด้ไหมพันธุ์นางน้อยศรีสะเกษ-1 และดักแด้ไหมพันธุ์เหลืองสุรินทร์ มีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าทุกสายพันธุ์ และในหนอนไหมสายพันธุ์นางน้อยศรีสะเกษ-1 เพศเมียจะมีโปรตีนสูงสุด ดักแด้ไหมพันธุ์เหลืองสุรินทร์เพศผู้จะมีปริมาณไขมันสูงสุด

“และจากการนำสารสกัดไปทดสอบกับหนูทดลองที่เลี้ยงให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับอะฟลาทอกซินบีหนึ่ง และสารก่อมะเร็ง MeIQ ที่เกิดจากการบริโภคเนื้อปิ้งย่างไหม้เกรียม เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ เราพบว่า สารสกัดที่ได้จากดักแด้ไหมพันธุ์เหลืองสุรินทร์ทั้งตัวผู้และตัวเมีย มีผลช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งตับระยะเริ่มต้นในหนูทดลองอย่างได้ผล และในอนาคตทีมวิจัยจะศึกษาทดลองในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งตับต่อไปว่าสามารถยับยั้งสารก่อมะเร็งอย่างได้ผลเหมือนในหนูทดลองหรือไม่” นายวิโรจน์ กล่าว.