สมเกียรติ ประพฤติกิจ-สมชาย ชาญณรงค์กุล
หนอนหัวดำ...เป็นแมลงต่างถิ่น กำเนิดและแพร่กระจายในแถบเอเชียใต้...แต่เข้ามาสร้างความเสียหายในประเทศไทยไม่ใช่น้อยๆ ช่วงเวลาเพียง 10 ปี ได้แผ่ขยายวงกว้างทำลายสวนมะพร้าวย่อยยับครอบคลุมพื้นที่เกือบ 80,000 ไร่ ใน 29 จังหวัด
สมเกียรติ ประพฤติกิจ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและงานเกษตรแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอม อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี บอกว่า ทำสวนมะพร้าวน้ำหอมจำนวน 50 ไร่โดยมีสมาชิกในกลุ่ม 80 ราย พื้นที่รวมกันกว่า 700 ไร่...เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีปัญหาหนอนหัวดำระบาดที่แปลงมะพร้าว ประมาณ 7-8 ต้น จากนั้นได้ไปปรึกษาทางกรมวิชาการเกษตรให้มาตรวจสอบ
พบว่า...สาเหตุมาจากการนำมะพร้าวแกงมาทำอาหารแล้วปอกเปลือกทิ้งไว้ในสวน
ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและงานเกษตรแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอม วัย 66 ปี จึงได้ลงมือฉีดสารเคมีเข้าต้นมะพร้าวที่เกิดการระบาดของหนอนหัวดำ จากนั้นได้เพาะแตนเบียน... ศัตรูตัวฉกาจหนอนหัวดำแล้วนำไปปล่อยในสวน ทุกๆ 3 เดือน คอยสังเกตใบยอดมะพร้าว ว่าหงิกงอหรือมีร่องรอยของหนอนหัวดำอยู่ตลอดเวลา ตรวจว่ามีการระบาดอีกหรือไม่
ซึ่งสุดท้าย...ได้ตัดสินใจโค่นต้นมะพร้าวที่เกิดปัญหาทิ้ง นำไปเผาทำลายแล้วปลูกขึ้นมาใหม่ทดแทน
เมื่อทดลองทำอย่างนี้ได้ระยะ 1-2 ปี ปรากฏว่าไม่เกิดการระบาดในสวนของตนและสมาชิกอีกเลย แต่กลับไปเกิดการระบาดในสวนของคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของศูนย์เราและไม่ได้ดูแลรักษาด้วยการฉีดสารเข้าต้น หรือนำแตนเบียนไปปล่อย...ส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มมะพร้าวแกง ที่มีต้นสูงทำให้การขึ้นไปบนยอดเพื่อดูแลทำได้ยาก
...
ท้ายที่สุดแล้วเป็นที่ชัดเจน นั่นคือ เราต้องดูแลสวนของเราอย่างใกล้ชิด จึงจะไม่ตกเป็นเหยื่อการระบาดของหนอนหัวดำ หากปล่อยปละละเลยเมื่อไหร่เสร็จมันแน่ๆ
เปิดบันทึกช่วยจำ ตอกย้ำความน่ากลัวของ “หนอนหัวดำ”...ศัตรูตัวฉกาจของต้นมะพร้าว ตาลโตนด อินทผลัม หมาก ปาล์มน้ำมัน ปาล์มประดับต่างๆ อาทิ ตาลฟ้า หมากเขียว หมากแดง ปาล์มหางกระรอกจั๋ง นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถทำลายต้นกล้วยที่ปลูกอยู่ใต้ต้นมะพร้าวได้อีกต่างหาก
ภายใต้ปฏิบัติการโครงการป้องกันกําจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดํา) ให้เกษตรกร หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชนที่เกี่ยวข้อง และบุคคลทั่วไป ร่วมกันป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว ด้วยวิธีผสมผสาน ใช้วิธีการจัดการศัตรูมะพร้าวหลายๆวิธีร่วมกัน
เน้นชุมชน ท้องถิ่นมีส่วนร่วม...เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างต่อเนื่อง “กรมส่งเสริมการเกษตร” หวังผลเป้าหมายสูงสุด... “หนอนหัวดำต้องไม่มีที่ยืนในประเทศ”
สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร มองว่า เรื่องหนอนหัวดำ โครงการที่ดำเนินการให้มีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน หมายถึงว่าทุกคนก็ต้องมีส่วนร่วมจริงๆ
“หนอนหัวดำอาศัยในพืชที่หลากหลาย สามารถหลบได้ ที่ผ่านมาเราทำในลักษณะที่ว่าเลือกทำ เลือกปฏิบัติ สวนไหนสมัครใจก็ไปฉีดพ่น กำจัด สวนไหนไม่ทำก็ทิ้งไว้ แล้วก็มีปริมาณเยอะด้วยก็กลายเป็นแหล่งสะสม การทำรอบนี้ทำเป็นวงกว้างพร้อมๆกันทุกวิธีการ ใช้วิธีครอบคลุมทุกอย่างนับตั้งแต่การกำจัดแหล่งที่อยู่อาศัย จะอยู่โคนต้น ใต้ต้น หรืออยู่ในพืชตระกูลปาล์มน้ำมัน ต้นกล้วย ไม้ผลอื่นๆที่อยู่ข้างเคียงก็กำจัดไปพร้อมๆกัน”
ประการต่อมา...ก็อาจทำลายทางมะพร้าวที่มีปัญหา ควบคู่ไปกับการดูแลก็คือการปล่อยแตนเบียน ให้บินไปกำจัดหนอนหัวดำ ด้วยเป็นอาหาร แล้วก็มีการขยายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง...การปล่อยแตนเบียนต่อเนื่อง 5 ครั้งห่างกันครั้งละ 15 วัน อย่างที่ราชบุรีเป็นตัวอย่างที่ดี ข้อมูลวิชาการบอกว่า ให้ปล่อย 200 ตัวต่อไร่ ก็ขยายเพิ่มเอง
“เกษตรกรเอาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไปเพาะเอง...ขยายเองแล้วก็ตั้งศูนย์จัดการในชุมชนขึ้นมาฝึกหัดในกลุ่มขยายเป็นจำนวนมากแล้วก็ปล่อยมากกว่า ทั้งชุมชนร่วมมือกัน ผลปรากฏว่าไม่ต้องฉีดยาเลย ไม่ต้องใช้กระบวนการสุดท้ายใช้สารเคมี...ก็สามารถคุม กำจัดหนอนหัวดำในพื้นที่ได้อย่างได้ผล”
เริ่มจาก...ต้องรู้จักวงจรชีวิต แหล่งที่อยู่อาศัยหนอนหัวดำอยู่ตรงไหนก็กำจัดเสีย แล้วถ้ามีร่องรอยปรากฏก็เผาทำลายที่อยู่อาศัยต่อ แล้วก็กำจัดพร้อมๆกันในบริเวณกว้าง ป้องกันการหลบหนีแอบซ่อน ก็จะขยายพันธุ์ไปได้เรื่อยๆอีก ปัญหาก็ไม่จบ “แตนเบียน”...ธรรมชาติสู้กับธรรมชาติ จับหนอนหัวดำเป็นอาหาร ควบคุมแบบนี้ ปล่อยมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ ประเด็นสำคัญก็คือทุกสวนต้องทำร่วมกัน ปล่อยก็ปล่อยด้วยกัน
มาตรการที่ทำมาจนถึงวันนี้นับตั้งแต่เริ่มวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา อธิบดีสมชาย ประเมินผลได้จากต้นมะพร้าวที่แตกยอดออกมาใหม่ไม่มีร่องรอยการทำลายของหนอนหัวดำ วัดเพลง...แหล่งปลูกมะพร้าวอ่อน สนนราคาขายลูกละ 25 บาท พี่น้องทำสวนอย่างมืออาชีพ ดูแล ปฏิบัติตามหลักวิชาการ ทำให้วันนี้ฟื้นแล้ว จากวิกฤติหนอนหัวดำระบาด นั่นหมายถึงว่าหนอนหัวดำที่เคยพบอยู่แต่เดิมไม่ปรากฏแล้ว
“พื้นที่อื่นๆจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดใกล้เคียง ทำมะพร้าวไร่ มะพร้าวแก่ มะพร้าวกะทิ พื้นที่กว้างๆ เจ้าของสวนไม่ได้ดูแลเอง จ้างคนเฝ้า อาจจะไม่ได้เอาใจใส่มาก ก็จำเป็นต้องฉีดพ่นด้วยสารเคมี เข้าใจว่าต้นสิงหาคมนี้จะฉีดได้ เพราะอยู่ระหว่างการจัดหาสารเคมี”
...
วิธีการฉีดพ่นก็มีเงื่อนไขสำคัญว่า ต้นที่ต่ำกว่า 12 เมตร ให้ใช้ฉีดพ่นทางใบ พ่นฝอย หากสูงกว่านี้ก็ใช้การเจาะเข้าลำต้นเพื่อให้สารเคมีดูดซึมเข้าไป แล้วไปกำจัดหนอนหัวดำ ซึ่งข้อมูลวิชาการยืนยันแล้วว่าได้ผล
สมชาย ย้ำว่า การทำงานจะต้องทำควบคู่กันไปทั้งระบบ เครื่องชี้วัดก็คือการแตกทางใบใหม่ ที่ไม่มีร่องรอยการทำลาย ฟื้นตัวได้ ให้ผลผลิตได้เหมือนเดิม ส่วนคำถามที่ว่า...หนอนหัวดำจะหมดไปจากประเทศไทยไหม?
“ถ้าหลังจากเดือนสิงหาคม ฉีดพ่นสารเคมี เราหวังทำลายเด็ดขาด 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ทุกสวนต้องร่วมมือกัน ทำแบบปูพรมพร้อมๆกัน สวนไหนไม่ฉีดก็ต้องปล่อยแตนเบียนต่อเนื่อง”
แล้วหลังจากฉีดพ่น...เรายังปล่อยแตนเบียนต่อเนื่องอีก 16 ครั้ง ที่ผ่านมาเราทำแค่ 5 ครั้งก็เริ่มฟื้นตัวแล้ว ฉีดพ่นทิ้งไว้ 15 วันให้ยาหมดฤทธิ์แล้วปล่อยแตนเบียนต่อไปอีกระลอกในระยะ 8 เดือน เราคาดหวังว่า ด้วยวิธีการทำแบบนี้น่าจะหมดไปจากประเทศไทย หรืออย่างน้อยก็ไม่มีโอกาสที่เจริญเติบโตทำลายมะพร้าวได้อีก
ครั้งนี้เราวางแผนกุดหัว “หนอนหัวดำ” ทั้งรอบปี เริ่มเดือนพฤษภาคม คาดจะเสร็จประมาณเดือนเมษายนปีหน้า ใน 1 ปี...ทำอย่างต่อเนื่อง คาดหวังว่าจะตัดวงจรระบาดหนอนหัวดำได้อย่างครบวงจร
คนวงนอกอาจจะไม่รู้ว่าหนอนหัวดำอันตรายแค่ไหน...ลักษณะการทำลายจะค่อยๆแทรกซึมโดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัวว่าเกิดการระบาด แต่เมื่อเริ่มเห็นใบทางทั้งใบเป็นสีน้ำตาล ยอดเหี่ยวแห้งไปแล้ว
นั่นก็คือระยะสุดท้ายแล้ว...ทำอะไรไม่ได้แล้วนอกจากตัดทิ้งไป หรือไม่ก็เร่งให้ต้นฟื้นตัว ให้แตกทางใบใหม่ออกมา เพื่อเจริญเติบโตต่อไปได้
“บทเรียนเมื่อครั้งที่ผ่านๆมา เราเสียเงินไปกว่า 100 ล้าน แต่ไม่สามารถทำอะไรได้อย่างเด็ดขาด ปัญหายังคงอยู่...ทำไปได้สี่หมื่นกว่าไร่ สุดท้ายกลับมาระบาดอีกเท่าตัว กลายเป็นระบาดกว่าแปดหมื่นไร่”
...
นี่คือสิ่งที่ยืนยันว่าการที่ไม่ได้ทำอย่างเป็นวงกว้าง...ต่อเนื่อง หากไม่ร่วมมือพร้อมๆกันจะแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ได้แน่ ความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นเรื่องสำคัญและที่ขาดไม่ได้ก็คือ ความต่อเนื่อง เพื่อปราบ “หนอนหัวดำ” ศัตรูตัวร้ายทำลาย “มะพร้าว”...หนึ่งในพืชเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน.