เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ถือเป็นวันแรกของการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ คนที่ 21 ล่วงหน้าสำหรับชาวเกาหลีที่พำนักอยู่ต่างประเทศ เปิดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาใช้สิทธิในหน่วยเลือกตั้งกว่า 118 ประเทศทั่วโลกเป็นเวลา 6 วัน ก่อนเปิดคูหาเลือกตั้งอย่างเป็นทางการทั่วประเทศ เพื่อชี้ชะตาว่าใครจะได้เป็นผู้นำเกาหลีใต้คนใหม่ในวันที่ 3 มิ.ย.
สำหรับผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยมจากประชาชนชาวเกาหลีใต้มากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ “อี แจมยอง” จากพรรคประชาธิปไตย (Democratic Party) “คิม มุนซู” จากพรรคพลังประชาชน (People Power Party) และ “อี จุนซอก” จากพรรคปฏิรูปใหม่ (New Reform Party) โดยในโอกาสนี้ผู้เขียนขอพาผู้อ่านทุกท่านร่วมสำรวจนโยบายและความมุ่งมั่นของแต่ละพรรคว่าเป็นอย่างไรบ้าง
เริ่มด้วย อี แจมยอง วัย 61 ปี ฝ่ายเสรีนิยมจากพรรคฝ่ายค้าน ผู้พ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับอดีตประธานาธิบดียุน ซอกยอล จากพรรคพลังประชาชนอย่างฉิวเฉียด และปัจจุบันครองใจชาวเกาหลีนำโด่งเป็นอันดับหนึ่ง หาเสียงภายใต้สโลแกน “จากนี้ไปคือสาธารณ รัฐเกาหลีที่แท้จริง” ให้คำมั่นจะปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ ฟื้นฟูประเทศจากกรณีการใช้กฎอัยการศึกของอดีตผู้นำจนสร้างความปั่นป่วนให้กับประเทศเมื่อเดือน ธ.ค.2567
โดยตั้งใจ สร้างเสถียรภาพทางการเมือง ควบคุมอำนาจประธานาธิบดีในการบังคับใช้กฎอัยการศึกอย่างรัดกุมและปฏิรูประบบกฎหมายส่วน ด้านเศรษฐกิจ จ่อเพิ่มงบประมาณการวิจัยและพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ สนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น เสริมแกร่งให้ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ด้านการต่างประเทศ จะร่วมมือกับกลุ่มประเทศโลกใต้ (Global South) ยกระดับความสัมพันธ์การค้ากับสหภาพยุโรป ผ่อนคลายความตึงเครียดกับเกาหลีเหนือ ย้ำจุดยืนปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี และถ่ายโอนสิทธิในการควบคุมปฏิบัติการทหารช่วงสงครามจากสหรัฐฯ มายังเกาหลีใต้
...
ขณะที่มีแผน ปรับวัฒนธรรมในการทำงาน เสนอการทำงานสัปดาห์ละ 4 วันครึ่งต่อสัปดาห์ ยังมีความพยายามแก้ไขปัญหาประชากรเกาหลีใต้ ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาอัตราการเกิดต่ำ ผ่านการใช้มาตรการทางภาษี เพิ่มที่อยู่อาศัยเพื่อปล่อยเช่าให้แก่คู่สามีภรรยาที่เพิ่งแต่งงานใหม่ รวมถึงมีสวัสดิการรองรับและดูแลผู้สูงอายุเพิ่มเติม ส่วน ด้านสิ่งแวดล้อม ผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน และปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินภายในปี 2583
สำหรับนโยบายของผู้ท้าชิงประธานาธิบดีคนใหม่ที่เหลือ ขอเล่าต่อในตอนถัดไป.
ญาทิตา เอราวรรณ
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม