เมื่อวานผมรับใช้ถึงตอนที่ประธานาธิบดีฮูเวอร์เงอะงะเฟอะฟะทำอะไรไม่ถูก สร้างเขื่อนโบลเดอร์ก็ไม่ได้ผล นโยบายจำกัดผลผลิตเพื่อให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้นก็แป้ก อุตส่าห์ไปตั้ง Federal Farm Marketing Board หรือคณะกรรมการตลาดการเกษตรกลางเพื่อหาตลาดให้เกษตรกรอเมริกันก็ไปไม่รอด

ขณะที่กำลังมืดมนอนธการลนลาน ก็มีไม้ขีดก้านหนึ่งถูกจุดขึ้นมาในสมองของประธานาธิบดีฮูเวอร์ ฮูเวอร์ตะโกนว่า อ้า เราพบทางออกแล้ว ต่อไปนี้วิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะดีขึ้น เราจะตั้ง Reconstruction Finance Corporation ที่แปลว่าบรรษัทฟื้นฟูการเงินเพื่อปล่อยเงินกู้ฉุกเฉินให้กับธนาคาร บริษัทรถไฟ และอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียน

ทว่า บรรษัทฟื้นฟูฯก็แป้กอีกครับ ประธานาธิบดีฮูเวอร์โกรธจัด วิ่งเอาหัวพุ่งข้างฝาสามที ก็มีทางออกใหม่ผุดออกมาจากสมอง อา ประชาชนคนอเมริกันถูกยึดบ้านและที่ดินบานเบอะเยอะแยะ อา เราต้องไปขอให้สภาออก Home Loan Bank Act หรือรัฐบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่จะถูกยึดบ้านและที่ทำกิน

ฮูเวอร์กับทรัมป์น่าจะมีบรรพบุรุษเดียวกัน เพราะว่านิสัยใจคอเหมือนกันแทบทุกประการ ใจร้อน เชื่อมั่นในตัวเอง ทะเลาะ เบาะแว้งกับคนทั่วไป ค.ศ.1932 ฮูเวอร์โมโหโกรธามหาหงุดหงิด พอมีสมาชิกสภาคองเกรสตำหนิว่าโครงการของแกเชื่องช้า แก้ไขปัญหาไม่ได้ แกก็ตะโกนฟ้องประชาชนว่า อา ท่านประชาชนคนอเมริกันที่เคารพ เพราะข้าพเจ้ามาจากพรรครีพับลิกัน แต่สมาชิกสภาส่วนใหญ่เป็นพวกเด็มโมแครต พวกนี้ขัดขวางโครงการต่างๆนานาของข้าพเจ้า เพื่อต้องการให้เศรษฐกิจตกต่ำ หวังผลในการเลือกตั้งครั้งหน้า จะให้ประชาชนคนทั่วไปมาเทคะแนนให้เด็มโมแครต

ช่วงนั้นคนอเมริกันไม่มีกิน ประชาชนจำนวนไม่น้อยอยู่ในภาวะ malnutrition อาหารไม่พอ หน้ามืด วิงเวียน เพราะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ สมองสับสน ตอบสนองช้า ไม่ว่าฮูเวอร์จะพูดว่ายังไงก็ไม่มีใครคิดตามได้ดอกครับ

...

เศรษฐกิจอเมริกันตกต่ำดำมืด จนถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป ประชาชนก็ไปทุ่มคะแนนให้แฟรงคลิน เดลาโน รูสเวลต์ จากพรรคเด็มโมแครต ทันทีที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี รูสเวลต์ก็บอกว่า อา ข้าพเจ้านึกออกแล้ว หลังจากปิดสวิตช์ฮูเวอร์ เราจะต้องทำให้คนอเมริกันมี 3 ป. เอ๊ย 4 R มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เอ๊ย ไม่ใช่ นั่นมันคำพูดของท่านนายกฯแพทองธาร

ข้าพเจ้าจะทำให้ประชาชนมี 3 Rs คือ Relief การบรรเทาทุกข์ Recovery การฟื้นฟู และ Reform การปฏิรูป คนอเมริกันสมัยนั้น รองเท้าขาดเพราะใช้เดินไปที่ธนาคารเพื่อถอนเงินทุกวัน แต่ไปแล้วก็ถอนไม่ได้ กลับมาก็แช่งด่าธนาคารและรัฐบาล รูสเวลต์ผู้ปราดเปรื่องเรืองปัญญา หลังจากรับตำแหน่งได้เพียง 2 วันก็ลงนามในคำสั่งผู้บริหาร เพื่อให้ธนาคารทั่วประเทศหยุดทำการเป็นเวลา 2 สัปดาห์

หลังจากนั้นอีก 3 วัน รูสเวลต์ก็ขอให้สภามีประชุมสมัยวิสามัญเพื่อผ่าน Emergency Banking Relief Act ค.ศ.1933 รัฐบัญญัติฉุกเฉินเพื่อการฟื้นฟูธนาคาร คัดกรองธนาคารที่มีฐานะมั่นคงให้ยังดำเนินกิจการได้ต่อไป ไอ้ที่กำลังเดินเซๆ ก็ให้ไปรับเงินกู้ฟื้นฟูกิจการ ธนาคารที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวก็ให้ปิดกิจการอย่างถาวร

ธนาคาร 1 ใน 10 ถูกปิดกิจการถาวร หลังจากนั้นรูสเวลต์ ก็ไลน์กลุ่ม เอ๊ย สมัยนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย ก็สร้างรายการวิทยุ Fire Side Chat แปลเป็นไทยก็คือคุยกันข้างเตาผิง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนคนอเมริกันในเรื่องต่างๆ

รูสเวลต์สั่งให้ขึ้นราคาทองคำจากออนซ์ละ 20.67 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็นออนซ์ละ 35 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนลงมาเกือบร้อยละ 70 ช่วยในการส่งออก (ค่าเงินอ่อน ราคาสินค้าถูก ส่งออกได้มากขึ้น) หลังจากนั้นแกก็ขอให้ออก Federal Securities Act ค.ศ.1933 หรือรัฐบัญญัติหลักทรัพย์แห่งชาติ ให้คณะกรรมการการค้าแห่งชาติกำกับดูแลให้ผู้ค้ำประกันราคาหุ้นเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดของหลักทรัพย์ตัวใหม่ๆที่จะนำไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

หลังจากนั้นก็ออก Banking Act ค.ศ.1933 ที่เรียกว่ารัฐบัญญัติการธนาคาร แยกธนาคารเพื่อการลงทุนออกจากธนาคารพาณิชย์ และก่อตั้งบริษัทค้ำประกันเงินฝากแห่งชาติ เรื่องจะเป็นยังไงต่อไป มาว่ากันต่อครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม