ในการบรรยายหัวข้อ “Strengthening Borders: illicit Trade in ASEAN” หลายวันก่อน “รอดนีย์ แวนดูเรน” และ “ลิยานา อ็อธแมน” จากสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน ย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือข้ามพรมแดนและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อต่อสู้กับผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมายในอาเซียน
บุหรี่เถื่อนไม่ใช่เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขเพียงเพราะว่าเป็นสินค้าหนีภาษี แต่เป็นปัญหาใหญ่กัดกร่อนเศรษฐกิจและสังคม ทำให้รัฐขาดรายได้ ที่สำคัญการเป็นของเถื่อนไม่ได้มาตรฐาน ไร้การควบคุม ยังเป็นเหมือนระเบิดเวลาทำลายสุขภาพ ซ้ำร้ายราคาที่ย่อมเยายังล่อลวงเยาวชนให้เข้าสู่วังวนของการเสพได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย นอกจากนี้การผลิต กระจาย และจำหน่ายบุหรี่เถื่อนยังเป็นแหล่งรายได้ขององค์กรอาชญากรรม ขณะเดียวกันยังเชื่อมโยงกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้แรงงานบังคับ บ่อนทำลายแผนวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียน 2025
ขณะที่สถิติในปี 2566 บุหรี่ผิดกฎหมาย รวมทั้งบุหรี่ปลอม บุหรี่เถื่อน และที่ไม่ได้สำแดงภาษี คิดเป็น 15% ของการบริโภคทั่วโลก หรือราว 485,000 ล้านมวน ในจำนวนนี้มีบุหรี่เถื่อนมากที่สุด 47% ขณะที่บุหรี่ปลอมมีสัดส่วน 7% ซึ่งทั้งหมดสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้แก่ทั้งอาเซียนราว 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แวนดูเรนให้ข้อมูลต่อว่า สัดส่วนบุหรี่ผิดกฎหมายลักลอบนำเข้าในไทยและฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตั้งแต่ปี 2563 โดยเวียดนามเป็นประเทศปลายทางที่มีการนำเข้าบุหรี่เถื่อนมูลค่าสูงสุด 1,133 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีต้นทางมาจากกัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) แต่ขณะเดียวกันยังเป็นประเทศต้นทางส่งออกบุหรี่เถื่อนไปยังอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และยูเออี รวมมูลค่ากว่า 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
...
ส่วน ประเทศไทยของเราดูเหมือนไม่ได้เป็นแหล่งผลิตบุหรี่เถื่อน แต่เป็นประเทศจุดหมายปลายทางมากกว่า เพราะมีอัตราภาษีบุหรี่สูงสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงเป็นเป้าหมายหลักในการนำเข้า มีสัดส่วนการบริโภคบุหรี่เถื่อนในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 อยู่ที่ 25% สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 823 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (28,000 ล้านบาท) ไทยยังถูกใช้เป็นเส้นทางลำเลียงจากเวียดนามไปยังรัฐกลันตันของมาเลเซีย รวมทั้งส่งของเถื่อนจากกัมพูชาไปยังอินเดียอีกด้วย เป็นต้น
เสียดายวันนี้เนื้อที่หมดแล้ว พรุ่งนี้มาเล่าตอน 2 ต่อค่ะ.
อมรดา พงศ์อุทัย
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม