สถานการณ์การเมืองในเกาหลีใต้ยังคงตึงเครียดต่อเนื่อง ท่ามกลางการเฝ้ารอฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญต่อการถอดถอน “ยุน ซอกยอล” ให้พ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ตามมติของรัฐสภาเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2567 จากกรณีการประกาศใช้คำสั่งกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ปีที่แล้ว จนสร้างความปั่นป่วนให้กับประเทศ

ตามปกติแล้วศาลรัฐธรรมนูญมีเวลาไม่เกิน 180 วัน หรือ 6 เดือน ในการตีความและตัดสินว่า จะรับรองมติของรัฐสภา  หรือ ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปตามเดิม หากย้อนดูประวัติศาสตร์การถอดถอนประธานาธิบดี เกาหลีใต้ในอดีต ทั้ง “โน มูฮยอน” อดีตประธานาธิบดีคนที่ 9 และ “พัค กึนฮเย” อดีตประธานาธิบดีคนที่ 11 ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ใช้เวลาให้ครบตามกำหนด โดยใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ หลังสิ้นสุดการกระบวนการพิจารณาคดีเท่านั้น จึงได้ทราบคำชี้ขาดว่าให้พ้นจากตำแหน่งผู้นำ

แต่สำหรับกรณีของยุน ซอกยอล ที่แม้ว่ากระบวนการพิจารณาคดีครั้งสุดท้ายจะสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเวลาล่วงเลยมาแล้วกว่า 3 สัปดาห์ เราก็ยังไม่ทราบกันเสียทีว่า ชะตาของผู้นำคนนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป โดยศาลเคยเผยกับผู้สื่อข่าวก่อนหน้านี้ว่า จะประกาศกำหนดการให้ทราบ หลังแจ้งต่อรัฐสภาและตัวแทนของประธานาธิบดีแล้วเรียบร้อย โดยครั้งนี้จะต้องให้คณะผู้พิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญลงมติให้ได้เสียงส่วนใหญ่คือ 6 เสียง (จากทั้งหมด 8 เสียง) หากผลปรากฏว่ายุน ซอกยอลต้องโบกมือลาตำแหน่งผู้นำ รัฐบาลเกาหลีใต้ก็จะต้องจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ภายใน 60 วัน

ด้านคิม ซอนแทค ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งมหาวิทยาลัยเกาหลีระบุว่า เหตุที่ล่าช้าอาจเป็นเพราะคณะผู้พิพากษา ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน รวมถึงอาจต้องใช้เวลาในการระบุคำชี้แจงและความคิดเห็นต่อคำตัดสินของศาล ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนยังมองถึงความล่าช้านี้ด้วยว่า คณะผู้พิพากษาอาจต้องการพยายามให้มีการลงมติเป็นเอกฉันท์ รวมถึงพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความโกลาหลวุ่นวาย และความแตกแยกในสังคม

...

คงต้องเฝ้ารอดูกันต่อไปว่าอนาคตของเกาหลีใต้จะเป็นอย่างไรต่อไป.

ญาทิตา เอราวรรณ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม