เกาหลีใต้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ โดยมีประชากรผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 65 ปี) 10.24 ล้านคน หรือคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมดที่มีอยู่ราว 51 ล้านคน หนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลเกาหลีใต้มีเพื่อรองรับผู้สูงอายุนับแต่ปี 2527 คือ “การจัดสวัสดิการขึ้นรถไฟใต้ดินฟรี” ส่งผลให้ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป สามารถสัญจรด้วยรถไฟใต้ดินโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ปัจจุบันนโยบายดังกล่าวอาจกลายเป็นภาระด้านงบประมาณของภาครัฐได้เช่นกัน
ไม่นานมานี้การรถไฟกรุงโซล หรือ โซลเมโทร (Seoul Metro) เผยรายงานประจำปีว่า สวัสดิการผู้สูงอายุขึ้นรถไฟใต้ดินฟรี ทำให้บริษัทขาดทุนประมาณ 400,000 ล้านวอน หรือราว 9,324 ล้านบาท ส่งผลให้ต้องลดงบประมาณด้านความปลอดภัยและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อจัดสวัสดิการ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการรถไฟใต้ดินฟรีอยู่ 17% ของผู้โดยสารที่ใช้บริการทั้งหมด และการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่เข้าเกณฑ์ใช้บริการฟรีจะทำให้ขาดดุลงบประมาณได้
รายงานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่กรุงโซลกำลังเผชิญ โดยก่อนหน้านี้ โอ เซฮุน นายกเทศมนตรีกรุงโซล เผยเมื่อต้นเดือน ก.พ. ว่า นับแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โซลเมโทรประสบปัญหาขาดดุลงบประมาณ 1 ล้านล้านวอนต่อปี หรือ 23,330 ล้านบาท โดยสวัสดิการรถไฟฟรีเพื่อผู้สูงอายุคิดเป็น 30% ของการขาดดุล ขณะที่ก่อนเกิดโควิดอยู่ที่ 60% จึงอาจต้องพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณนี้
โอ เซฮุน ยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาโซลเมโทรประคองกิจการต่อไปได้ด้วยการออกหุ้นกู้ แต่ปัจจุบันแทบจะแบกรับไม่ไหว หากโซลเมโทรเป็นบริษัทเอกชนคงจะล้มละลายนานแล้ว พร้อมเรียกร้องให้กระทรวงเศรษฐกิจและการเงินมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดภาระงบประมาณของกรุงโซล
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเศรษฐกิจและการเงินมองว่า การจะนำงบประมาณของรัฐบาลกลางมาช่วยสนับสนุนผู้สูงอายุที่ใช้รถไฟใต้ดินในกรุงโซลเป็นเรื่องยาก เนื่องจากยังมีผู้สูงอายุกลุ่มอื่นที่ไม่ได้รับสวัสดิการนี้ เช่น สัญจรด้วยรถเมล์ หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทซึ่งรถไฟใต้ดินยังไม่เข้าถึง.
...
ญาทิตา เอราวรรณ
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม