ยังคงเป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงไม่หยุด สำหรับปี 2025 โดยธุรกิจทั่วโลกต้องเผชิญกับสารพัดความเสี่ยง ไล่ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี, ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้
แค่เก่งบวกเฮงและขยันคงไม่พอแล้วสำหรับผู้นำธุรกิจยุคใหม่ PwC นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับทักษะในอนาคตของผู้นำยุคใหม่ที่ต้องมี เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร ท่ามกลางความผันผวนและไม่แน่นอนของโลกยุคดิสรัปชัน
ภายใต้บทความ “Kick–start your reinvention” ผู้นำธุรกิจที่ไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลังจะต้องเร่งเครื่องอัปความสามารถใน 3 ทักษะสำคัญคือ “พัฒนาทักษะในการมองเห็นแนวโน้มและปัจจัยกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ” ผู้นำธุรกิจยุคใหม่จำเป็นต้องตื่นตัวอยู่เสมอ เพื่อติดตามการเปลี่ยน แปลงต่างๆที่กำลังจะมาถึง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์, สงครามการค้า รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมูลค่าของกิจการ และเปิดโอกาสให้คู่แข่งมาช่วงชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน
พร้อมกันนี้ก็ต้องมีวิสัยทัศน์ไกลมองเห็นถึงปัจจัยและแรงกดดันอื่นๆที่อาจส่งผลต่อตัวธุรกิจและอุตสาหกรรมของตน โดยจะต้องมองหาโอกาสใหม่ๆที่คนอื่นไม่เคยคิดจะมองมาก่อน ก้าวแรกของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆให้ประสบความสำเร็จเหนือคู่แข่งจะต้องอาศัยความเข้าใจในปัญหา, ทีมงานที่มีประสบการณ์ และมองทะลุถึงความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า รวมถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของลูกค้า
“ก้าวข้ามแนวคิดและการทำงานแบบดั้งเดิมทั้งภายในและภายนอกองค์กร” ผู้นำองค์กรยุคใหม่ควรก้าวข้ามขอบเขตการทำงานแบบเดิมๆ โดยมองหาโอกาสและความร่วมมือใหม่ๆในระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem Business Model) เพื่อสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในกลุ่มบริษัทที่มีความสัมพันธ์ส่งเสริมกันและกัน พร้อมส่งมอบคุณค่าให้กับกลุ่มลูกค้าและตลาดใหม่ๆได้อย่างเหนือชั้น จากการศึกษาของ PwC พบว่าบริษัทที่มีผลการดำเนินงานยอดเยี่ยมมีแนวโน้มมากกว่าบริษัททั่วไปถึงสองเท่าในการสร้างรายได้มากกว่า 60% จากการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในระบบนิเวศทางธุรกิจ และในเร็วๆนี้ระบบนิเวศทางธุรกิจจะกลายเป็นเวทีแข่งขันหลัก ที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงองค์กรในอนาคต...รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย!!
...
“หลุดพ้นจากความเฉื่อยชา” ยังคงมีซีอีโออีกมากที่ยึดติดกับแนวปฏิบัติเดิมๆและแนวคิดเก่าๆที่มีอยู่ โดยต่อต้านการเปลี่ยนแปลงองค์กร หรือนิ่งเฉยไม่ยอมทำอะไรสักอย่าง ซึ่งถือเป็นอุปสรรคในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และนำพาองค์กรสู่การเปลี่ยนแปลงให้ทันโลกทันเหตุการณ์ เช่น การขัดขวางการตั้งแผนกใหม่ตามสายงานความรับผิดชอบใหม่, มองข้ามทักษะที่ใช้ปรับตัวให้เข้ากับความต้องการในอนาคต และยังอยู่ในสิ่งแวดล้อมของทีมงานรุ่นเก่ายุคไดโนเสาร์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นศัตรูตัวร้ายที่ฉุดรั้งอนาคตขององค์กรให้ถอยหลังเข้าคลอง
นโยบายเร่งด่วนที่ควรทำคือ การจัดสรรทรัพยากรภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพและความคล่องตัวมากขึ้น พร้อมกับประยุกต์ใช้แนวทางของธุรกิจสตาร์ตอัพในการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Minimum Viable Product) เพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยงในการสร้างโปรดักส์ที่อาจไม่ตรงใจผู้ใช้ หรือไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด โดยการสร้างผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง หรือบริการตัวอย่าง มาทดลองตลาดก่อน แต่สามารถปรับเปลี่ยนและปรับปรุงตามความคิดเห็นที่ได้รับจากลูกค้า เป็นการออกจากคอมฟอร์ตโซนและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆแบบไม่เจ็บตัว ที่องค์กรใหญ่ๆ
ยุคเก่าควรจะนำไปปรับใช้ในทุกมิติ ก่อนจะกลายเป็น “ยักษ์ใหญ่ล้มดัง” นำความล่มสลายมาสู่องค์กร เพราะยืนขาตายปรับตัวไม่เป็น!!
มิสแซฟไฟร์
คลิกอ่านคอลัมน์ “คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์” เพิ่มเติม