“โดนัลด์ ทรัมป์” นั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐอเมริกา คนที่ 47 อย่างเป็นทางการ ประกาศลั่น “ยุคทองของอเมริกาได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว” พร้อมประเดิมวันแรกหลังเข้าพิธีสาบานตน ลงนามยกเลิกคำสั่งในสมัย “โจ ไบเดน” รวมถึงออกคำสั่งใหม่ร่วม 100 ฉบับ รวมถึงถอนตัวออกจากสมาชิก “องค์การอนามัยโลก-ข้อตกลงปารีส” ด้านผู้นำทั่วโลกส่งสารแสดงความยินดีและหวังผู้นำสหรัฐฯจะช่วยกันสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจไปด้วยกัน
ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ทั่วโลกจับตากับการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ประเทศสหรัฐอเมริกา ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเมื่อวันที่ 21 ม.ค.สำนักข่าวต่างประเทศรายงานพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 47 ของนายทรัมป์ ซึ่งจัดขึ้นในเวลาประมาณเที่ยงคืนของวันที่ 20 ม.ค.ตามเวลาประเทศไทย ที่โถงวงกลมใต้โดมของอาคารรัฐสภา ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี เนื่องจากสภาพอากาศหนาวจัดถึงขั้นติดลบ โดยมีผู้เข้าร่วมพิธีประมาณ 2,600 คน รวมถึงครอบครัวของนายโดนัลด์ ทรัมป์ มาพร้อมหน้า ได้แก่ นางเมลาเนีย ทรัมป์ ภรรยา ลูกชายและลูกสาว ขณะเดียวกันยังมี นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 และนางจิล ไบเดน ภรรยา รวมทั้งอดีตประธานาธิบดี อาทิ นายบิล คลินตัน อดีตผู้นำคนที่ 42 นายจอร์จ ดับเบิลยู.บุช อดีตผู้นำคนที่ 43 นายบารัค โอบามา อดีตผู้นำคนที่ 44 ฯลฯ เข้าร่วมพิธี
นอกจากนี้ยังมีผู้นำจากนานาชาติที่เดินทางมาร่วมงานตามคำเชิญ เช่น นายฮาเวียร์ มิเลย์ ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา น.ส.จอร์จา เมโลนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี นางลิซ ทรัสส์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นางซูเอลลา เบรเวอร์แมน อดีต รมว.มหาดไทยของอังกฤษ และนายหาน เจิ้ง รองประธานาธิบดีจีน รวมถึงเหล่าผู้บริหารจากบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทยานยนต์ไฟฟ้าเทสลา มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้บริหารบริษัทเมตา เจฟ เบโซส์ ผู้บริหารบริษัทแอมะซอน ทิม คุก ผู้บริหารบริษัทแอปเปิล ซุนดาร์ พิชัย ผู้บริหารบริษัทกูเกิล และโจว โซ่วจือ ผู้บริหารบริษัทไบท์แดนซ์ เจ้าของแอปพลิเคชันติ๊กต่อก ขณะที่ ประชาชนทั่วไปอย่างน้อย 20,000 คน มารวมตัวกันที่สนามกีฬาแคปิตัล วัน อารีน่า ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อรับชมการถ่ายทอดสดพิธีสาบานตนครั้งนี้เช่นกัน
...
ทั้งนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นพูดสุนทรพจน์เป็นเวลาประมาณ 30 นาที หลังจากกล่าวคำสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี คนที่ 47 อย่างเป็นทางการ โดยระบุว่า ยุคทองของอเมริกาได้เริ่มต้น ขึ้นแล้ว จากนี้ไปประเทศของเราจะเจริญรุ่งเรือง เป็นที่เคารพจากทั่วทั้งโลกอีกครั้ง รวมทั้งเป็นประเทศที่น่าอิจฉามากที่สุด เราจะไม่ให้ผู้ใดมาฉกฉวยผลประโยชน์อีกต่อไปในรัฐบาลนี้ และอเมริกาจะต้องมาก่อนเสมอ นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ยังระบุถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือน พ.ย.2024 ที่ผ่านมาด้วยว่า ชัยชนะในครั้งนี้เป็นการกลับตาลปัตรของการทรยศหักหลังที่เกิดขึ้นในประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯเผชิญกับวิกฤติความเชื่อมั่นในรัฐบาล นายทรัมป์ยังให้คำมั่นว่า จะนำศรัทธาความมั่งคั่ง ประชาธิปไตย รวมถึงอิสรภาพกลับคืนสู่ประชาชน ณ ตอนนี้ เพราะการตกต่ำของอเมริกาได้จบลงแล้ว
สำหรับการทำพิธีสาบานตนของนายโดนัลด์ ทรัมป์ในครั้งนี้ มีจุดที่น่าสนใจคือ ขณะที่นายทรัมป์กำลังยกมือขวาขึ้นในระดับใบหน้า และกล่าวคำสาบานเพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการอีกครั้งในสมัยที่ 2 นั้น นายทรัมป์ไม่ได้วางมือลงบนคัมภีร์ไบเบิลที่วางซ้อนกัน 2 เล่ม ซึ่งนางเมลาเนีย ทรัมป์ ผู้เป็นภรรยากำลังยืนถืออยู่เคียงข้าง โดยคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งเป็นของแม่ของนายทรัมป์ และอีกเล่มหนึ่งเป็นคัมภีร์ที่นายอับราฮัม ลินคอล์น ใช้ในการทำพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลำดับที่ 16 เมื่อปี 2404 ซึ่งต่างจากในปี 2017 ที่นาย โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นผู้นำประเทศสมัยแรก ที่เขาวางมือขวาไว้บนคัมภีร์ไบเบิลทั้ง 2 เล่ม อย่างไรก็ตาม ตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯไม่มีการกำหนดไว้ว่า
ขณะที่กำลังกล่าวคำสาบานเพื่อรับตำแหน่งจะต้องนำมือวางไว้เหนือคัมภีร์ไบเบิล แต่มีการระบุว่าจะต้องไม่มีการทดสอบที่เกี่ยวกับศาสนาเพื่อรับรองความเชื่อมั่นให้แก่หน่วยงานใดๆในสหรัฐฯ เท่ากับว่าการวางมือลงบนคัมภีร์ไบเบิลเป็นเพียงวิธีปฏิบัติตามประเพณีเท่านั้น
สำนักข่าวต่างประเทศยังรายงานตลอดวันด้วยว่า ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีสาบานตน นายโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มต้น ปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันแรกทันที ด้วยการลงนามในคำสั่งต่างๆเกือบ 100 ฉบับ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์นิวส์ว่าตัวเองจะขอทำตัวเป็นเผด็จการในวันแรกของการนั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศ และใช้อำนาจประธานาธิบดี ปิดพรมแดนทางใต้ที่ติดกับเม็กซิโก และขยายการขุดเจาะน้ำมัน โดยหลังการลงนามคำสั่งในช่วงแรก นายทรัมป์ได้สร้างความฮือฮาด้วยการแจกปากกาที่ใช้เซ็นคำสั่ง โดยโยนปากกาแจกผู้ที่ร่วมชมพิธี ก่อนที่จะเดินทางไปลงนามคำสั่งต่างๆต่อที่ห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาว
สำหรับการลงนามคำสั่งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในครั้งนี้ มีหลายประเด็นถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย อาทิ การลงนามถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เนื่องจากมองว่าองค์การดังกล่าวรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และโรคอื่นๆได้ไม่ดี โดยสหรัฐฯ จะออกจากการเป็นสมาชิก WHO ในอีก 12 วัน และหยุดให้การสนับสนุนทาง การเงินเช่นกัน และถอนตัวในข้อตกลงปารีส ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพอากาศ เนื่องจากมองว่าเป็นข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรม โดยในสมัยที่นายโดนัลด์ ทรัมป์เป็นผู้นำประเทศในสมัยแรก เมื่อช่วงปี ค.ศ.2017-2021 ก็เคยถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าว ก่อนที่สหรัฐฯ กลับมาเป็นสมาชิกในข้อตกลงปารีสอีกครั้งในสมัยของประธานาธิบดีโจ ไบเดน รวมไปถึงการยกเลิกการให้สัญชาติโดยอัตโนมัติแก่เด็กที่เกิดบนแผ่นดินสหรัฐฯ แต่มีพ่อแม่ที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย
หลังจากนั้นตลอดวัน ผู้นำนานาชาติได้ส่งสารแสดงความยินดีกับการกลับมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ อีกครั้งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อาทิ นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แถลงแสดงความยินดีต่อการหวนคืนสู่อำนาจอีกครั้งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ โดยระบุว่า รัสเซียมีความรู้สึกยินดี และอยากฟื้นฟูความ สัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ รวมถึงป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งในประเด็นเรื่องยูเครนพัฒนากลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ส่วน นายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ระบุว่า นโยบายอันแข็งแกร่งที่จะสร้างสันติภาพของนายทรัมป์เป็นโอกาสดีที่จะเสริมสร้างความเป็นผู้นำให้แก่สหรัฐฯ และนำมาซึ่งสันติภาพที่ยาวนาน ขณะที่นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล แถลงว่า ตัวเขาเชื่อว่าการได้กลับมาร่วมมือกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ อีกครั้ง จะทำให้สัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิสราเอลแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
...
ด้านนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ก็แสดงความยินดีกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และหวังว่าจะมีโอกาสได้ร่วมงานกันอีกครั้งเพื่อสร้างอาชีพ ความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ทั้ง 2 ชาติ เช่นเดียวกับเซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ระบุถึงสัมพันธภาพที่อังกฤษกับสหรัฐฯ มีมากว่าศตวรรษ และจะปฏิบัติงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรือง ส่วนนายไล่ ชิงเต๋อ ประธานาธิบดีไต้หวัน แถลงเช่นกันว่า ในฐานะตัวแทนชาวไต้หวัน ขอแสดงความยินดีกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ และนาย เจ.ดี.แวนซ์ รองประธานาธิบดี พร้อมชี้ว่าสหรัฐฯ ถือเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของไต้หวัน ทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจและการค้า รวมถึงยังเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งที่ยึดถือคุณค่าในประชาธิปไตยและเสรีภาพร่วมกัน ขณะที่นายอิชิบะ ชิเกรุ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระบุว่าเมื่อได้ฟังคำกล่าวสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีทรัมป์ รู้สึกว่านี่คือการทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ส่วนตัวคิดว่าผู้นำสหรัฐฯ จะทำตามสิ่งที่เคยกล่าวไว้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ดังนั้นเราจึงตั้งเป้าหมายในการคานผลประโยชน์ระดับชาติของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อสนับสนุนสันติภาพและเศรษฐกิจโลก เป็นต้น
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่