สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ดำเนินมาเกือบ 3 ปี ได้ทำให้วงการความมั่นคงโลกรับรู้ว่า “โดรน” นับเป็นอาวุธที่มีความน่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง สามารถตรวจจับการเคลื่อนกำลังพล ชี้เป้าให้หน่วยปืนใหญ่หย่อนระเบิดสังหารทหารราบ ไปจนถึงการสวมบทบาทเป็นโดรนพิฆาตทำหน้าที่ “คามิคาเซ่” พุ่งชนทำลายยานเกราะ รถถัง หรืออาวุธสนับสนุนการรบได้ภายพริบตา ซึ่งของเหล่านี้ต่างมีราคาหลักสิบหลักร้อยล้านบาท เมื่อเทียบกับโดรนที่มีราคาถูกกว่าหลายเท่าตัว
จนเป็นที่มาของความพยายามหาทางรับมือด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าการใช้ระบบกวนหรือตัดสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ ปืนยิงตาข่าย ไปจนถึงการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยวิธีลูกทุ่ง ตั้งหน่วยถือปืนล่าสัตว์ ปืนลูกซอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ฝ่ายความมั่นคงของ “อินเดีย” กำลังทดสอบวิธีต่อต้านโดรนรูปแบบใหม่ โดยนำ “นกอินทรี” มาฝึกฝนให้เป็นนักล่าสังหารโดรน ภายใต้ชื่อว่า “หน่วยพญาครุฑ” ใช้ประโยชน์จากการที่อินเดียมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีนกอินทรีให้เลือกสรรมากมายหลายสายพันธุ์
โดยโปรเจกต์นี้กำลังอยู่ในขั้นตอนลองผิดลองถูก แต่สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงอินเดียพบก็คือ การนำลูกอินทรีมาเลี้ยงและฝึกตั้งแต่แบเบาะ จะทำให้อินทรีไม่มีความกลัว และสามารถออกล่าโดรนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นกอินทรีสามารถสอยโดรนจำพวกนาโนโดรน (ขนาดไม่เกิน 250 กรัม) หรือไมโครโดรน (ขนาด 250 กรัมถึง 2 กิโลเมตร) ได้อย่างไม่มีปัญหา เนื่องด้วยกรงเล็บที่แข็งและแหลมคม เพียงแต่ปัญหาในตอนนี้ คือยังไม่รู้จะทำเช่นไรให้นกอินทรีสามารถแยกแยะโดรนของฝ่ายเดียวกันกับโดรนของข้าศึก และกลายเป็นว่าการใช้นกอินทรีจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตปลอดโดรน
กระนั้น ทางอินเดียก็มองว่าลองดูไม่เห็นเสียหายอะไร ลงทุนเทคโนโลยีต่อต้านโดรนราคาหลักเกือบพันล้านบาทยังทำได้ แล้วการฟูมฟักนกอินทรีราคาหลักหมื่นหลักแสนมันจะเป็นอะไรไป
...
ในปี 2559 เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรกที่ริเริ่มแนวคิดนี้ แต่ถอดใจยุบโครงการภายในปีต่อมา หลังจากพบปัญหานกได้รับบาดเจ็บจากใบพัดโดรน และค่าเลี้ยงนกแพงเกินไป จึงน่าสนใจว่าอินเดียจะประสบปัญหาแบบเดียวกันหรือไม่ หรือจะมีทางแก้และทำให้โปรเจกต์สูงสุดคืนสู่สามัญชิ้นนี้ ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม!?
ตุ๊ ปากเกร็ด
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม