รัฐบาลสหรัฐฯภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” กำลังอยู่ในสภาพเร่งสะสาง “สิ่งที่ต้องทำ” ก่อนที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” กำลังจะหวนคืนสู่ทำเนียบขาวในวันที่ 20 ม.ค.นี้

หนึ่งในนั้นคือการเปิดหน้าชน “สงครามเซมิคอนดักเตอร์” อย่างไม่มีกั๊กอีกต่อไป โดยแผนการของสหรัฐฯในครั้งนี้คือการขีดเส้นแบ่งโลกออกเป็น 3 ส่วน เริ่มด้วย “เทียร์ 1” ชาติพันธมิตรอย่างยุโรป(ตะวันตก) แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จะได้รับสิทธิในการเข้าถึงเทคโนโลยี “ชิปปัญญาประดิษฐ์” (AI Chips) หรือเทคโนโลยีที่คล้ายๆกัน (เช่น การพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์) อย่างเต็มรูปแบบ

ในขณะที่ “เทียร์ 3” จีน รัสเซีย อิหร่าน เวเนซุเอลา คิวบา กัมพูชา เมียนมา จะไม่ได้รับสิทธิในการเข้าถึงเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงแต่อย่างใด หรือได้รับอนุญาตให้เข้าถึงน้อยมาก ส่วน “ประเทศไทย” และชาติอื่นๆที่เหลือถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “เทียร์ 2” สามารถเข้าถึงเซมิคอนดักเตอร์หรือการพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ได้ภายใต้ “เงื่อนไข” ที่สหรัฐฯกำหนด

แบ่งฝ่ายวัดกันเลยว่าใครจะเหนือกว่าใครในเรื่องของเทคโนโลยีขั้นสูง แต่กรณีนี้ก็เห็นเค้าลางของ “ปัญหา” อยู่รำไรคือ ประเทศ “ส่วนที่เหลือของโลก” หรือกลุ่มเทียร์ 2 ซึ่งรวมถึงไทย จะถูกบีบให้ต้องเลือกว่าจะเอาเทคโนโลยีของใคร-สหรัฐฯหรือจีน–ใช่หรือไม่

และถ้าถึงเวลาต้องเลือกสหรัฐฯจริงๆ จะถูกเงื่อนไขกำหนดกฎเกณฑ์เช่นไร เพราะเป็นที่ทราบกันมาว่าการซื้อเทคโนโลยีจากสหรัฐฯไม่ใช่ขายขาดเอาไปทำตามใจชอบ จะต้องถูกกำกับดูแลอย่างเข้มข้นหรือลดประสิทธิภาพ ในขณะที่ค่ายจีนนำเสนอตัวเองเป็น “ทางเลือก” และแม้เทคโนโลยีจะยังไม่เจ๋งเท่าแต่ก็ตามหลังสหรัฐฯมาติดๆ และที่สำคัญคือความได้เปรียบเรื่องของ “ราคา” ที่ถูกกว่าอย่างน่าเกลียด

...

นอกจากนี้ยังแน่นอนว่า ชาติที่อยู่เทียร์ 3 ได้ถูกปิดประตูตายในการ “ร่วมมือ” กับค่ายสหรัฐฯหรือชาติพันธมิตรตะวันตกไปแล้ว ซึ่งทางออกก็เห็นได้ชัดว่า ฝ่ายที่ถูกกีดกันนี้ย่อมสร้างเทคโนโลยีของค่ายตัวเอง แข่งกันไปเป็น “คู่ขนาน” ที่ไม่มีทางมาบรรจบกัน แถมดีไม่ดีหากเทียร์ 3 จับกลุ่มกับเทียร์ 2 ได้มากขึ้นเรื่อยๆ จะมิกลายเป็นว่ากลุ่มเทียร์ 1 สร้างกำแพงมาปิดกั้นตัวเอง และถูกโดดเดี่ยวหรือกระไร?

การบีบให้เลือกข้างทำได้หากชนะอยู่เห็นๆ แต่ถ้าโอกาสยังก้ำกึ่ง ก็ถือเป็นการเดิมพันที่อาจจบลงแบบได้ไม่คุ้มเสียเอาเสียเปล่าๆ.


ตุ๊ ปากเกร็ด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม