หากกล่าวถึงวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นหลายคนอาจเคยได้ยินมาว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ทำงานหนัก ถ้าหัวหน้าไม่เด้งออกจากเก้าอี้ ลูกน้องก็ไม่กล้าชิ่งหนีกลับบ้านไปก่อน ถึงแม้ว่าจะถึงเวลาเลิกงานแล้วก็ตาม ซึ่งอาจทำให้ชั่วโมงเวลาการทำงานของพนักงานออฟฟิศ บางคนเลยเวลามาตรฐานตามกฎหมายแรงงานญี่ปุ่นที่กำหนดไว้ที่ “วันละ 8 ชั่วโมง ไม่เกินสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง” (หรือเรียกง่ายๆว่าทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน) ไปโดยปริยาย
สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมอนิเมะและภาพยนตร์ญี่ปุ่น (Nippon Anime & Film Culture Association หรือ NAFCA) สำรวจคนทำงานในอุตสาหกรรมแอนิเมชันของญี่ปุ่น (หรือที่เรียกจนติดปากว่า อนิเมะ) จำนวน 323 คน แบ่งเป็นอนิเมเตอร์ 191 คน ฝ่ายกำกับ 44 คน ฝ่ายผลิต 35 คน และนักพากย์ 23 คน ระหว่างเดือนธันวาคม 2566 ถึงเดือนมกราคม 2567 พบว่า ครึ่งหนึ่งของกลุ่มคนเหล่านี้ทำงานเฉลี่ยเดือนละ 225 ชั่วโมง เท่ากับว่าแรงงานในวงการอนิเมะจะทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว และมีคนมากถึง 58.5% ที่ได้หยุดงานเพียงแค่ 6 วันต่อเดือน
ขณะที่นักพากย์ซึ่งมีตารางการทำงานแตกต่างไปจากแรงงานในอุตสาหกรรมเดียวกันนั้น ก็มีนักพากย์จำนวน 30.4% ที่เปิดเผยว่า ในแต่ละวันได้ทำงาน 10 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น โดยมีค่าเฉลี่ยชั่วโมงการทำงานสูงสุดถึง 336 ชั่วโมงใน 1 เดือน (ประมาณ 15 ชั่วโมงต่อวัน) แม้ว่าตัวเลขนี้จะจำแนกแยกสายงานภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชั่วโมงการทำงาน ของคนในอุตสาหกรรมนี้ก็มากกว่าพนักงานเต็มเวลาในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ทำงานเฉลี่ยเดือนละ 163.5 ชั่วโมง หรือประมาณ 8-9 ชั่วโมงต่อวันเสียอีก
สำหรับประเด็นการถูกคุกคามในที่ทำงานของคนในวงการอนิเมะ พบว่า 65.8% เคยถูกคุกคาม และ 85.6% เคยพบเห็นพฤติกรรมดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นการข่มเหงโดยใช้อำนาจ ขณะที่มีคน 37.7% ที่ได้รับเงินเดือนเพียง 200,000 เยนต่อเดือน (ราว 47,543 บาท) และมีคนมากถึง 60% ที่ได้เงินค่าจ้างสุทธิ (เงินเดือนหลังหักภาษี) น้อยกว่า 200,000 เยน ส่วนใหญ่ทำงานในส่วนของการเขียนบท ยังพบว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยรายชั่วโมง” ของคนวงการนี้คือ 1,111 เยน (ราว 265 บาท) มากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ของญี่ปุ่นซึ่งอยู่ที่ชั่วโมงละ 1,004 เยน (ราว 238 บาท) แต่น้อยกว่ากรุงโตเกียวคือ 1,113 เยน (ราว 264 บาท) ทั้งนี้ พนักงานในวงการอนิเมะ 77.6% ไม่ได้รับจ๊อบเสริมหาเงินเพิ่ม
...
จากผลสำรวจดังกล่าว สะท้อนว่างานในอุตสาหกรรมอนิเมะค่อนข้างหนักและมีปัญหา ทั้งชั่วโมงการทำงาน รายได้ และการถูกคุกคามในที่ทำงาน แต่ก็มีคนมากถึง 71.8% ที่มีใจรักและยืนยันจะทำงานในอุตสาหกรรมนี้ต่อไป.
ญาทิตา เอราวรรณ
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม