วันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวที่น่าสนใจจากสำนักข่าวบีบีซีอังกฤษ เรื่องความเป็นไปได้ว่า กองทัพรัสเซียจะเปิดฉาก การรุกครั้งใหญ่ในยูเครนช่วงฤดูร้อนปีนี้

โดยมีประเด็นหลักคือความเป็นห่วงว่ายูเครนจะรับมือเช่นไร ในเมื่อกำลังขาดแคลนกระสุนและอาวุธยุทโธปกรณ์ เนื่องจากปัจจัยลูกพี่ใหญ่สหรัฐอเมริกายังผ่านร่างงบประมาณ 61,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 2.19 ล้านล้านบาทสำหรับช่วยยูเครนไม่สำเร็จ ค้างเติ่งอยู่ในกระบวนการสภาผู้แทนราษฎรมานานกว่า 2 เดือน ไม่รวมถึงรายข่าวเป็นระยะๆว่า กำลังขาดแคลนไพร่พล ระดมกำลังสำรองได้ไม่เพียงพอกับความต้องการในสนามรบ

ทั้งคาดคะเนว่าการบุกโจมตีของรัสเซียจะเกิดขึ้นที่ใด จะตามรอยกองทัพยูเครนเมื่อช่วงฤดูร้อนปีก่อน ส่งกำลังทะลวงแนวรบที่จังหวัด “ซาโปริชเชีย” ทางภาคใต้ของยูเครน หรือจะบุกรุกคืบต่อที่จังหวัด “โดเนตสก์” ทางภาคตะวันออก หลังจากเพิ่งประสบความสำเร็จในการยึดเมืองป้อมปราการอับดีเยฟกา

หรือไม่แน่ว่ารัสเซียอาจทะเยอทะยานยิ่งกว่านั้นคือ มุ่งเป้าไปที่เมือง “คาร์คิฟ” (รัสเซียเรียกคาร์คอฟ) ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของยูเครน หลังจากทุกวันนี้คาร์คิฟก็ถูกถล่มต่อเนื่องด้วยขีปนาวุธ จรวดร่อน และโดรนสังหาร

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากนักวิเคราะห์ความมั่นคงในรัสเซียกลับมองในทางตรงข้ามว่า กองทัพรัสเซียไม่จำเป็นต้องเปิดฉากการรุกครั้งใหญ่เหมือนที่ชาติตะวันกล่าวอ้าง เหตุผลประการแรกคือ กองทัพรัสเซียยังขาด “ประสบการณ์” ที่จะเปิดฉากการรุกครั้งใหญ่

แน่นอนว่าในสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพแดงโซเวียตเคยปะทะกับกองทัพนาซีเยอรมนีอย่างดุเดือด เพื่อแย่งชิงเมืองคาร์คอฟ มีความรู้ทางยุทธวิธี มีตำราต่างๆมากมายไปหมด แต่บัดนี้ถือเป็นคนละยุคกัน เครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยีได้แตกต่างกันอย่างมาก อีกทั้งในความเป็นจริงรัสเซียก็ยังไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้การ “เจาะทะลวง” แนวป้องกันที่หนาแน่นอย่างจริงจัง และในช่วงต้นสงครามที่กองทัพรัสเซียรุกคืบเข้าไปในยูเครนอย่างรวดเร็ว ก็เพราะว่าแนวป้องกันของยูเครนยังไม่ทันตั้งตัว ไม่ต้องมีการตีทะลวงใดๆทั้งสิ้น

...

หากดูพฤติกรรมที่ผ่านมาก็เห็นชัดเจนว่า กองทัพรัสเซียรับรู้แล้วว่าการบุกโจมตีในยุคปัจจุบันจำเป็นที่กองทัพจะต้องปรับโครงสร้างกันใหม่ ไล่ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงระดับบัญชาการ เขียนตำรายุทธวิธีใหม่ขึ้นมาจากประสบการณ์ในสนามรบ ตัวอย่างคือการบุกตีเมืองอับดีเยฟกาในจังหวัดโดเนตสก์ ที่ใช้เวลากว่า 5 เดือน ถึงจะสัมฤทธิ์ผล.

ตุ๊ ปากเกร็ด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม