เมื่อวันที่ 10 เม.ย. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานบรรยากาศการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกาหลีใต้ครั้งที่ 22 หลังครบวาระ 4 ปี ที่น่าจับตามองว่าพรรคใดจะสามารถคว้าเสียงข้างมากจากทั้งหมด 300 ที่นั่ง (แบ่งเขต 254 ที่นั่ง และบัญชีรายชื่อ 46 ที่นั่ง) ในรัฐสภาไปครอง ระหว่างพรรคพลังประชาชน (PPP) พรรครัฐบาลเสียงข้างน้อยของประธานาธิบดียุน ซอก ยอล กับพรรคฝ่ายค้านประชาธิปไตย (DP) ที่มีหัวหน้าพรรค คือ นายอี แจ มยอง เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งในการเลือกตั้ง สส.คราวที่แล้วเมื่อปี 2563 พรรคดีพีเป็นฝ่ายครองเสียงข้างมากในรัฐสภา
จากผลสำรวจบริเวณคูหาเลือกตั้ง หรือเอ็กซิตโพล ของสื่อท้องถิ่นเกาหลีใต้ เช่น สถานีโทรทัศน์เคบีเอส เอสบีเอสและเอ็มบีซีปรากฏว่า พรรคดีพี มีแนวโน้มครองที่นั่งในรัฐสภาร่วมกับพรรคพันธมิตรราว 197 ที่นั่ง ส่วนพรรคพีพีพี อาจคว้าที่นั่งร่วมกับพันธมิตรมากสุด 111 ที่นั่ง หากผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการชี้ว่าพรรครัฐบาลยังไม่สามารถเอาชนะใจประชาชนเกาหลีใต้ได้ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการผลักดันนโยบายต่างๆของนายยุน ซึ่งก่อนหน้านี้ น.ส.คัง จู ฮยอน ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสตรีซุกมยอง ตั้งข้อสังเกตว่า หากพรรคพีพีพียังเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย นายยุนจะกลายเป็นเป็ดง่อย หรือประธานาธิบดีที่เสื่อมอำนาจในการบริหารประเทศอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม การรายงานเอ็กซิตโพลไม่ใช่ผลอย่างเป็นทางการ แต่ผลโพลในปี 2563 ก็สะท้อนผลคะแนนได้อย่างแม่นยำ โดยมีการเปิดเผยผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติเกาหลีใต้ภายในวันที่ 11 เม.ย. ด้านนายฮัน ดง ฮุน หัวหน้าพรรคพีพีพี แสดงความผิดหวังต่อผลเอ็กซิตโพล พร้อมระบุว่าพรรคพลังประชาชนได้ทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถเพื่อสนับสนุนเจตจำนงของประชาชนเกาหลีใต้ และจะติดตามการนับคะแนนอย่างใกล้ชิด ส่วนนายอีเผยหลังทราบผลว่า จะเฝ้าดูการตัดสินใจของประชาชนด้วยใจที่นอบน้อมจนถึงนาทีสุดท้าย ทั้งนี้ กกต.เกาหลีใต้ระบุว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้มีประชาชนเดินทางมาใช้สิทธิมากถึง 29.6 ล้านคน คิดเป็น 67% ของผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ 44.28 ล้านคน ถือเป็นจำนวนที่มากสุดในรอบ 32 ปี
...
ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังเกิดขึ้นท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวเกาหลีใต้อย่างหนักหน่วงต่อการรับมือปัญหาในประเทศของนายยุน เช่น ราคาอาหารและราคาที่อยู่อาศัยพุ่งสูง การประท้วงหยุดงานของแพทย์ในเกาหลีใต้ รวมถึงประเด็นอื้อฉาวรับสินบนเป็นกระเป๋าดิออร์ของนางคิม กอน ฮี สตรีหมายเลขหนึ่ง และปัญหาคอร์รัปชันของสมาชิกระดับสูงในพรรคพีพีพี ขณะที่นายอีก็ถูกวิจารณ์ในประเด็นการเหยียดเพศของ 1 ในสมาชิกพรรครัฐบาลเช่นกัน.