การระเบิดของรังสีแกมมาเคยเป็นเรื่องลึกลับที่นักดาราศาสตร์มืดมนที่จะไขความกระจ่าง ปัจจุบันมีทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับว่าการระเบิดของรังสีแกมมาเป็นพลังงานที่ไหลออกมาจากดาวฤกษ์ที่ระเบิดเป็นซุปเปอร์โนวา หรือจากการชนกันของดาวนิวตรอนหนาแน่น 2 ดวง ซึ่งมีการวัดการระเบิดของรังสีแกมมามาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960
เมื่อเร็วๆนี้ ทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติ ร่วมด้วยสถาบันดาราศาสตร์ฟิสิกส์แห่งชาติ ในกรุงโรม อิตาลี เผยถึงการตรวจสอบการระเบิดของรังสีแกมมาขนาดมหึมาที่พุ่งมายังโลก ที่เรียกว่า GRB 221009A เมื่อ 9 ต.ค.2565 ซึ่งตรวจจับได้โดยดาวเทียมหลายดวงที่โคจรใกล้โลก และกล้องโทรทรรศน์อวกาศอินทิกรัล ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ดาราศาสตร์รังสีแกมมานานาชาติ ขององค์การอวกาศยุโรป การระเบิดครั้งนั้นสร้างความปั่นป่วนครั้งใหญ่ในชั้นบรรยากาศรอบนอกโลกเป็นเวลาราว 13 นาที นักดาราศาสตร์ระบุว่านี่เป็นการระเบิดที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยพบมา พร้อมอธิบายที่มาว่า เมื่อราว 2,000 ล้านปีก่อน ในกาแล็กซีที่อยู่ไกลจากกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา มีดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ดวงหนึ่งเผชิญกับหายนะจนจบชีวิตด้วยระเบิดเป็นซุปเปอร์โนวา และปล่อยรังสีแกมมาออกมามหาศาล รังสีเหล่านั้น เดินทางข้ามจักรวาลมาถึงโลกเมื่อปีที่แล้ว
ผลการศึกษาที่เพิ่งเปิดเผยระบุว่าการระเบิดของรังสีแกมมานี้ก่อความแปรผันอย่างมากในสนามไฟฟ้าของชั้นไอโอโนสเฟียร์ของโลก ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศชั้นบน อยู่ห่างจากพื้นผิวโลกประมาณ 50-950 กิโลเมตร เป็นที่อยู่ของก๊าซที่มีสภาพเป็นไอออนที่เรียกว่าพลาสมา ทั้งนี้ เครื่องมือบนโลกแสดงให้เห็นว่ารังสีแกมมารบกวนบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์เป็นเวลาหลายชั่วโมง และยังทำให้เครื่องตรวจจับฟ้าผ่าในอินเดียเสียหายอีกด้วย.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่
...