เมื่อปีที่แล้วองค์การนาซา สหรัฐอเมริกา ส่งยานอวกาศดาร์ท ไปพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กดิมอร์ฟอส เพื่อที่ยานจะเบี่ยงเบนวิถีโคจรของดิมอร์ฟอส ซึ่งเป็นการทดสอบการป้องกันดาวเคราะห์ที่มีโอกาสพุ่งชนโลก นับเป็นครั้งแรกที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ตามธรรมชาติของเทหวัตถุในท้องฟ้า

ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอริโซนา สหรัฐฯ ระบุว่าอีกประมาณ 5 ปีต่อจากนี้ จะมีดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส (Apophis) ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าค่อนข้างคล้ายถั่ว เต็มไปด้วยหินและเชื่อว่าส่วนใหญ่เป็นซิลิเกต เหล็ก นิกเกิล มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 340 เมตร จะเคลื่อนผ่านโลกภายในรัศมี 31,860 กม.ในวันที่ 13 เม.ย.2572 เราจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นเวลา 2-3 ชม. แม้อะโพฟิสมีขนาดใหญ่กว่าดิมอร์ฟอสมาก แต่ก็เล็กมากเมื่อเทียบกับดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อน ซึ่งกวาดล้างไดโนเสาร์ไปจนหมด แต่ถึงจะขนาดไม่ใหญ่พอที่จะก่อหายนะทั่วโลกในแง่ของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ แต่อะโพฟิสที่พุ่งเข้ามาในรัศมีโลกด้วยความเร็วเหนือเสียง ก็สามารถทำลายล้างเมืองหรือภูมิภาคหลักๆ โดยมีผลกระทบต่อมหาสมุทรและก่อให้เกิดสึนามิ

...

องค์การนาซาจึงหาวิธีรับมือด้วยการขยายภารกิจของยานโอไซริส-เร็กซ์ (OSIRIS-Rex) ที่เพิ่งส่งตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยเบนนูกลับมาโลก ให้กลับไปศึกษาอะโพฟิส โดยเปลี่ยนชื่อเป็นโอไซริส-เอเพ็กซ์ (OSIRIS-APEX) ย่อมาจากโอไซริส-อะโพฟิส เอ็กซ์พลอเรอร์ (OSIRIS-APophis Explorer) ยานจะบินไปสังเกตการณ์เมื่ออะโพฟิสผ่านใกล้โลก ภาพและข้อมูลจะถูกรวมเข้ากับการวัดด้วยกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดิน เพื่อตรวจจับว่าอะโพฟิสมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อเคลื่อนผ่านโลก โอไซริส-เอเพ็กซ์ จะใช้เวลากับอะโพฟิสราว 18 เดือน โดยโคจรไปรอบๆ และยานจะก่อกวนวัสดุบนพื้นผิวอะโพฟิสเพื่อเผยให้เห็นสิ่งที่อยู่ข้างใต้ดาวเคราะห์น้อย.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่