หนึ่งในการค้นพบสุดเซอร์ไพรส์ในช่วงที่โลกล็อกดาวน์เพื่อจัดการกับโควิด มีนักศึกษาปริญญาเอกของวิทยาลัยเคมีแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ในนครซิดนีย์ ออสเตรเลีย นามว่าแอชลีย์ เหงียน ได้ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อมองหาโมเลกุลที่ประกอบตัวเองได้ และจัดเรียงตัวเองตามธรรมชาติโดยไม่มีการแทรกแซงจากมนุษย์ เจ้าตัวก็สะดุดแนวคิดเกี่ยวกับ Tryp tophan zippers ซึ่ง เป็นสายสั้นของกรดอะมิโนที่จำเป็นจากธรรมชาติหลายตัว ทำหน้าที่เป็นเส้นประสานเพื่อส่งเสริมการประกอบตัวเองของโมเลกุล

แนวคิดนี้นำไปสู่การสร้างวัสดุไฮโดรเจลแบบใหม่เรียกว่า Trpzip ที่สามารถเลียนแบบเนื้อเยื่อของมนุษย์ ทำให้เซลล์เติบโตในห้องปฏิบัติการได้ ซึ่งอาจนำมาใช้แทนที่วัสดุธรรมชาติที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย หรืออาจช่วยลดในการใช้วัสดุที่ได้จากสัตว์ เพราะวัสดุที่ได้จากสัตว์ยังเป็นปัญหาต่อการใช้งานในมนุษย์ เช่น เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันเชิงลบ ซึ่ง Trpzip ที่แม้จะเป็นวัสดุสังเคราะห์ แต่สามารถแสดงศักยภาพในพื้นที่ที่วัสดุธรรมชาติถูกนำมาใช้ และยังได้ประสิทธิผลที่ดีกว่าวัสดุธรรมชาติเหล่านั้นด้วย

ทั้งนี้ ไฮโดรเจลธรรมชาติถูกนำมาใช้กันทั่วไปในสังคม ตั้งแต่การแปรรูปอาหารไปจนถึงเครื่องสำอาง ทว่าจำเป็นต้องเก็บเกี่ยวเอาจากสัตว์ ทำให้เกิดข้อกังวลทางจริยธรรม นักวิจัยเผยว่าวัสดุไฮโดรเจลใหม่ที่ทำมาจากเปปไทด์สลายสั้นหรือพอลิเมอร์ของกรดอะมิโนที่มาเชื่อมต่อกันนี้ มีคุณสมบัติที่น่าประหลาดใจหลายประการ อาจส่งผลต่อวงการเทคโนโลยีทั้งการแพทย์ อาหาร และการผลิตในอนาคต ซึ่งการวิจัยระยะต่อไปจะเกี่ยวข้องกับการร่วมมือกับอุตสาหกรรมและทางคลินิก ในการทดสอบประโยชน์ของเจล Trpzip ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การพิมพ์ทางชีวภาพแบบ 3 มิติ และการจัดส่งสเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิด.

...

Credit : University of New South Wales, Sydney

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่