ทุกวันที่ 8 มี.ค.ของทุกปี เป็นวันสตรีสากล วันสำคัญที่องค์การสหประชาชาติให้การรับรอง นอกจากจะรำลึกถึงการต่อสู้อย่างกล้าหาญเพื่อความเท่าเทียมของสตรีในอดีตแล้ว ยังถือเป็นโอกาสเฉลิมฉลอง “ความสำเร็จ” ของสตรีและเด็กหญิงจากทั่วทุกมุมโลก โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทั้งด้านเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ หรือแม้แต่ความเชื่อทางการเมือง

ด้านนิตยสารระดับโลกอย่าง TIME ที่มักจะจัดอันดับ 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลของโลก เป็นประจำทุกปียังประกาศรายชื่อ “12 Women of the Year” หรือ “สตรีแห่งปี” 12 คน จากหลากหลายสาขาอาชีพในทั่วทุกมุมโลกที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมด้านต่างๆ และสร้างแรงบันดาลใจ ใช้เสียงของตนต่อสู้เพื่อโลกที่เท่าเทียมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสิทธิสตรี สิ่งแวดล้อม การเมือง วิทยาศาสตร์ กีฬา ศิลปะ ความบันเทิง รวมทั้งวรรณกรรม หลังจากเริ่มจัดอันดับเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2565

ในปีนี้ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็น “สตรีแห่งปี” ประกอบด้วย เคท บลานเชตต์ นักแสดงสาวมากฝีมือชาวออสเตรเลีย เจ้าของรางวัลด้านการแสดงมากมาย ยังรับหน้าที่เป็นทูตสันถวไมตรีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชา ชาติ ยังมักใช้ชื่อเสียงกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ถึง วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก รวมทั้ง “แอนเจลา บาสเซตต์” อีกหนึ่งนักแสดงที่เข้าชิงรางวัลออสการ์จากภาพยนตร์เรื่อง “แบล็กแพนเธอร์ : วากานดา ฟอร์เอฟเวอร์” เธอสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงรุ่นหลังได้ตระหนักถึงบทบาทและเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง ขณะที่ “ควินตา บรันสัน” ผู้สร้างและนักแสดงร่วมจากซีรีส์ตลก “แอบบ็อต เอเลเมนทารี” ทางช่องเอบีซี ที่จัดเป็นกระบอกเสียงของชาวอเมริกันผิวสีแล้วยังเป็นตัวอย่างให้เด็กผิวสีทั้งหลายเห็นว่าสามารถบรรลุเป้าหมายได้ไม่ว่า จะมาจากไหนก็ตาม

...

ด้าน มากิโกะ โอโนะ สตรีญี่ปุ่นวัย 62 ปี ซีอีโอคนใหม่ของอาณาจักรซันโตรี เบฟเวอเรจ เป็นหนึ่งในผู้หญิงไม่กี่คนที่เป็นผู้บริหารองค์กรใหญ่ของญี่ปุ่น โอโนะตั้งเป้าให้มีผู้หญิงในระดับผู้จัดการให้ได้ 30% ภายในปี 2573 ส่วน ฟีบี บริดเจอร์ส นักร้อง นักแต่งเพลง ชาวอเมริกันวัย 28 ปี ก็สนับสนุนการทำแท้ง รวมถึง รามลา อาลี นักมวยอาชีพและผู้ลี้ภัยชาวโซมาเลีย วัย 33 ปี จัดองค์กรไม่หวังผลกำไร “ซิสเตอร์ คลับ” เพื่อฝึกอบรมและการสนับสนุนสตรีมุสลิม ชนกลุ่มน้อย หรือใครก็ตามที่ต้องการฝึกชกมวย

แม้หนทางสู่ความเท่าเทียมอย่างเป็นรูปธรรมอาจยังมองไม่เห็นเด่นชัด แต่เชื่อว่าหากทุกภาคส่วนในสังคมร่วมให้ความสำคัญผลักดัน ลดช่องว่าง และยกระดับอย่างจริงจัง ความเท่าเทียมทางเพศที่วาดหวังไว้ก็คงอยู่ไม่ไกล.

อมรดา พงศ์อุทัย