เมื่อคนโบราณมองขึ้นไปบนท้องฟ้ายามค่ำคืน พวกเขาจะเห็นดวงดาวดารดาษ ที่ชวนให้จินตนาการเป็นรูปร่างแบบต่างๆ เช่น ชาวกรีกโบราณตั้งชื่อกลุ่มดาวกลุ่มหนึ่งว่า “งู” (Serpent) เนื่องจากแลดูแล้วมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับ “งู” ทว่า สิ่งที่ผู้คนเหล่านั้นไม่สามารถมองเห็นได้ก็คือที่ปลายหางของกลุ่มดาวแห่งนี้ มีวัตถุทางดาราศาสตร์ที่น่าทึ่งมากมาย
แต่ปัจจุบันมนุษย์ได้สร้างเครื่องมือที่ทำให้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ล่าสุด กล้องโทรทรรศน์วิสตา (VISTA-Visible and Infrared Survey Telescope for Astronomy) ที่หอดูดาวพารานัล ของหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรปในชิลี เผยภาพดวงดาวนับไม่ถ้วนที่กระจายอยู่เบื้องหลังการเรืองแสงสีส้มจางๆของเนบิวลา Sh2-54 ซึ่งเป็นกลุ่มก๊าซและฝุ่นจำนวนมหาศาลที่ช่วยก่อกำเนิดดาวฤกษ์ เปรียบเสมือนเรือนเพาะชำดวงดาวทารกที่สวยงามน่าตื่นตาโดยตั้งอยู่ในกลุ่มดาวงู
เนบิวลา Sh2-54 อยู่ห่างเราออกไปประมาณ 6,000 ปีแสง ซึ่งการที่แสงอินฟราเรดสามารถผ่านชั้นฝุ่นที่หนาทึบได้โดยแทบไม่มีสิ่งกีดขวาง ภาพใหม่นี้จึงเผยให้เห็นดวงดาวมากมายที่ซ่อนอยู่หลังม่านฝุ่น ทำให้มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่เลี้ยงดูดาวฤกษ์ได้อย่างละเอียดกว่าเดิม และจะให้ข้อมูลสำคัญในการทำความเข้าใจถึงวิวัฒนาการของดาวฤกษ์.
Credit: ESO/VVVX