สำนักข่าวต่างประเทศรายงานบรรยากาศการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป-อาเซียน เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต 45 ปี ที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ในวันที่ 14 ธ.ค. ท่ามกลางการจับตาว่าการค้า ความมั่นคง และแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเป็นเนื้อหาหลักในเวทีประชุม

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมบรัสเซลส์ต้องการที่จะผลักดัน ดึงดูดความสนใจอาเซียนต่อโครงการโกลบอล เกทเวย์ โปรเจกต์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของยุโรป มูลค่ากว่า 320,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 11.8 ล้านล้านบาท ซึ่งมีเป้าประสงค์ในการพัฒนาความเชื่อมโยงในประเทศกำลังพัฒนาทางเศรษฐกิจ และถูกมองว่าต้องการแข่งขันกับแผนริเริ่มเบลท์ แอนด์ โรด แถบและเส้นทาง (BRI) ของรัฐบาลจีน

ที่ประชุมบรัสเซลส์ยังมีความต้องการให้ประเทศอาเซียนร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและจุดยืนต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนของชาติสมาชิกอาเซียนมีความแตกต่างกันไป นายไซมอน โคเวนี รมว.ต่างประเทศไอร์แลนด์ มองว่า หนทางที่ดีที่สุดในการพูดเรื่องนี้คือยึดถือข้อเท็จจริงและกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมย้ำเตือนว่า หากรัสเซียทำได้ก็จะเป็นตัวอย่างไม่ดีแก่ชาติอื่นๆให้ทำตาม เชื่อว่าอาเซียนหลายประเทศก็เห็นด้วย

นักวิเคราะห์ประจำศูนย์ศึกษานโยบายสหภาพยุโรป-อาเซียนมองว่า การเพิ่มการค้ากับอาเซียนจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อยุโรป ยุโรปน่าจะรับรู้แล้วจากบทเรียนโควิด-19 สงครามยูเครน ว่าห่วงโซ่อุปทานสำหรับการไหลเวียนของสินค้าและการผลิตที่เข้มแข็งเป็นเรื่องจำเป็นเพียงใดและอาเซียนจะมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้

สำนักข่าวต่างประเทศยังรายงานด้วยว่า สหภาพยุโรปและอาเซียนมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและสหรัฐฯ ปี 2564 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการค้าและบริการสูงถึง 300,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 11.1 ล้านล้านบาท ยุโรปลงทุนในอาเซียนมากเป็นอันดับ 2 เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่อาเซียนลงทุนในยุโรปเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่า 140,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 5.18 ล้านล้านบาท ในปี 2562

...

กระนั้น ยุโรปมีข้อตกลงการค้าเสรีกับชาติอาเซียน เพียงแค่ 2 ชาติ คือสิงคโปร์และเวียดนาม ทั้งมีอุปสรรคเรื่องกฎหมายใหม่ของยุโรป ว่าด้วยการจำกัดการนำเข้าสินค้าที่เชื่อมโยงกับการทำลายป่าไม้และบังคับใช้แรงงาน กระนั้น ทางการยุโรปฝ่ายดูแลความสัมพันธ์กับอาเซียนมองว่า มุมหนึ่งต้องยอมรับว่าประชากรในชาติกำลังพัฒนาต้องการการเติบโตและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ยุโรปไม่ควรมีความคิดที่จะไปชี้นิ้วสั่ง.