พูดถึง “อินโดนีเซีย” ดินแดนแห่งอารยธรรมหมื่นเกาะ ประเทศเพื่อนบ้านไม่ไกลในอาเซียนที่อาจถูกมองข้ามและยังไม่เป็นจุดหมายท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทยในวงกว้าง ให้ความรู้สึก “so close but yet so far” เข้าข่ายใกล้ทางกายแต่ห่างไกลทางความรู้สึก ทั้งที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวอยู่ไม่น้อยและยังมีความคล้ายคลึงใกล้เคียงหลายอย่างทั้งผู้คน ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนอาหารการกิน

ส่วนในแง่เศรษฐกิจและการเมือง อินโดนีเซียมีความหลากหลายของกลุ่มชนมากกว่า 300 ชาติพันธุ์ ด้วยประชากรมากถึง 279 ล้านคน สูงสุดอันดับ 4 ของโลก และมากสุดในอาเซียน มีบทบาทสำคัญในประชาคมโลก เพิ่งประสบความสำเร็จในการจัดการประชุมสุดยอด ผู้นำจี 20 ที่เกาะบาหลี ในฐานะประธานจี 20 เดือนก่อน มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในปี 2564 อยู่ที่ 1.186 ล้านล้านเหรียญ สหรัฐฯ และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลกในแง่ความเสมอภาคของอำนาจซื้อ นักเศรษฐศาสตร์ยังยกให้เป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องจับตามอง เป็นส่วนหนึ่งของตลาดเกิดใหม่ MIST ประกอบด้วยเม็กซิโก อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และตุรกี ด้วยศักยภาพ และความมั่งคั่งทางทรัพยากรธรรมชาติ

...

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 อินโดนีเซียที่ต้องพึ่งพาภาคการเดินทางและการท่องเที่ยวขับเคลื่อนเศรษฐกิจย่อมได้รับผลกระทบอย่างหนัก เมื่อการเดินทางระหว่างประเทศหยุดชะงัก กระทั่งการท่องเที่ยวทั่วโลกเริ่มคึกคัก มีการเดินทางระหว่างประเทศอย่างอิสระ ใกล้สู่ภาวะปกติ จึงเป็นโอกาสพิเศษที่ผู้เขียนเป็นหนึ่งในสื่อมวลชนไทยร่วมเดินทางไปยังกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซียตามคำเชื้อเชิญของกรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของจาการ์ตาและสถานเอกอัครราชทูตอินโด นีเซียประจำกรุงเทพมหานคร เมื่อสัปดาห์ก่อน

การเดินทางสะดวกสบายจากกรุงเทพฯ ราว 4 ชั่วโมงเศษ โดยการูดา อินโดนีเซีย สายการบินแห่งชาติอินโดนีเซีย เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติซูการ์โน-ฮัตตา กรุงจาการ์ตา บนเกาะชวาโดยสวัสดิภาพ และในระหว่างรอลงจากเครื่องบินก็จะได้ยินเสียงเพลงอิเล็กโทรป๊อปท่วงทำนองติดหูด้วยเสียงร้องแหบพร่าเท่ๆขับกล่อมวนไปมาอยู่หลายครั้ง จับใจความได้ว่าน่าจะเป็นเพลงประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอินโดนีเซีย เมื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมจึงพบว่าเป็นเพลงชื่อ Di Indonesia Aja หรือ Only in Indonesia จากศิลปินชายชื่อแซนดี ซันโดโร ต้อนรับสู่ “Wonderful Indonesia” หรือมหัศจรรย์อินโดนีเซีย เป็นด่านแรก

ช่วงเวลาสั้นๆเพียง 4 วัน ในเมืองใหญ่สุดในภูมิภาค ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เห็นว่า จาการ์ตา เมืองหลวงแห่งแมกไม้และความเขียวขจีมีดีมากกว่าเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจไม่ด้อยกว่าเมืองใหญ่ที่ใดในโลก ไม่ว่าจะเป็นคนหนุ่มสาวที่นิยมถ่ายรูปเช็กอินตามสถานที่ต่างๆ หรือช็อปปิ้งในห้างสรรพสินค้าน้อย-ใหญ่ที่มีอยู่มากมายเกือบ 200 แห่ง ทั้งของท้องถิ่นและห้างหรูจากฝรั่งเศส ญี่ปุ่น รวมทั้งห้างเซ็นทรัลของไทย ยังมีจาการ์ตา อควาเรียม ซาฟารี พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในร่มใหญ่ที่สุดที่มีมากกว่าสัตว์น้ำ เป็นอีกทางเลือกแก่ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก หรือจะขึ้นไปชมความงามของเมืองจากมุมสูงที่อนุสาวรีย์แห่งชาติโมนาส หอคอยสูงใจกลางจัตุรัสเมอร์เดกา สัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อเอกราช อีกแลนด์มาร์กสำคัญ รวมถึงพิพิธภัณฑ สถานแห่งชาติอินโดนีเซียที่มีรูปปั้นช้างสำริดจากรัชกาลที่ 5 ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ด้านหน้า หรือจะลัดเลาะไปสัมผัสความคลาสสิกในอดีตที่ย่านเมืองเก่า โกตาตัว ยังพรั่งพร้อมด้วยร้านอาหาร ทั้งแบบหรูหรา ไฟน์ไดน์นิง จนถึงสตรีทฟู้ดที่อิ่มอร่อยถูกปากด้วยรสชาติใกล้เคียงอาหารไทย ให้สัมผัสนุ่มนวลละมุนลิ้น

ในทริปนี้ยังมีโอกาสพูดคุยกับ นายฮาริ วิโบโว หัวหน้าฝ่ายการตลาดและแหล่งท่องเที่ยว-กรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของจาการ์ตา เจ้าภาพที่ชักชวนให้มาเพลิดเพลินครั้งนี้ เผยว่า หลังเกิดโควิดมีนักท่องเที่ยวมาเยือนจาการ์ตาไม่ถึง 5 แสนคน จากเดิมราว 2.5 ล้านคน ขณะที่ตั้งเป้า 1 ล้านคนในปีหน้า ที่ผ่านมา ชาวมาเลเซียมาเที่ยวจาการ์ตามากที่สุด ต่อด้วยจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทยที่หวังดันเป็นเบอร์ 1 อยากให้ลองผจญภัยหรือลองประสบการณ์ใหม่ในจาการ์ตาก่อนไปเมืองอื่นอย่างบาหลี ยอกยาการ์ตา หรือสุราบายา ปัจจุบันมีทัวร์เดินเท้า ทัวร์ปั่นจักรยานเที่ยวรอบเมือง หรือจะเปลี่ยนบรรยากาศไปทำกิจกรรมทางน้ำเช่น เจ็ตสกี ดำน้ำตื้น ดำน้ำลึก ที่เดินทางจากท่าเรือเพียง 15 นาที ยังเปิดวิดีโอโชว์ประสบการณ์ส่วนตัวที่เจอวาฬดำผุดดำว่ายในระยะประชิดอีกด้วย

...

ส่วนปัญหารถติดหนักติด 50 อันดับของโลก คุณฮาริให้ความมั่นใจว่า ระบบคมนาคมของจาการ์ตาพัฒนาไปมาก โดยเฉพาะรถไฟฟ้า MRT ที่เริ่มเมื่อ 4 ปีก่อน รัฐบาลยัง ออกนโยบายต่างๆกระตุ้นให้ประชาชนใช้ขนส่งมวลชนที่เชื่อมต่อครอบคลุมทั่วเมือง รวมถึงลดภาษีส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าลดมลพิษ

คุณฮาริทิ้งท้ายว่า ไม่กังวลที่อินโดนีเซียจะย้ายเมืองหลวงไปยังเมือง “นูซันตารา” บนเกาะบอว์เนียว เชื่อว่าจาการ์ตาจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการเงินต่อไป มั่นใจว่าจะต้องมีเทคโนโลยีใหม่ๆช่วยไม่ให้จาการ์ตาจมน้ำทะเล แต่สิ่งสำคัญตอนนี้คือร่วมมือกับสถานทูตอินโดนีเซียทั่วโลกส่งเสริมการท่องเที่ยวจาการ์ตา ยังมีการบ้านต้องทำอีกมาก เพื่อให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกมา “enjoy Jakarta” ให้ได้ตามเป้า.

อมรดา พงศ์อุทัย