การศึกษาบริเวณใจกลางดาราจักรหรือกาแล็กซีนับเป็นหนึ่งในเรื่องที่ท้าทายของนักดาราศาสตร์ เชื่อกันว่าใจกลางกาแล็กซีจะมีหลุมดำมวลยิ่งยวดซุ่มซ่อนอยู่ และจะมีแสงที่เกิดจากการที่สสารตกลงสู่หลุมดำมวลยวดยิ่ง ทั้งนี้ พื้นที่ของการก่อตัวดาวฤกษ์และแสงจากดาวที่มีอยู่ล้วนมีส่วนทำให้เกิดความสว่างที่แกนของกาแล็กซี

เมื่อเร็วๆนี้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกาและองค์การอวกาศยุโรป หรืออีเอสเอ ได้ส่งภาพที่สอดแนม ด้วยกล้องวายด์ ฟีลด์ คาเมรา ทรี (Wide Field Camera 3) ไปที่แขนกังหันของกาแล็กซีชนิดก้นหอยหรือทรงกังหันที่กว้างใหญ่ไพศาล ชื่อ NGC 5495 ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 300 ล้านปีแสง ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวงูไฮดรา นักดาราศาสตร์ระบุว่า NGC 5495 เป็นกาแล็กซีชนิดเซย์เฟิร์ต (Seyfert galaxy) คือกาแล็กซีประเภทหนึ่งที่มีบริเวณแกนกลางสว่างเป็นพิเศษ แกนเรืองแสงก็คือนิวเคลียสของกาแล็กซีที่มีการเคลื่อนไหว และถูกปกคลุมไปด้วยแสงที่ปล่อยออกมาจากฝุ่นและก๊าซที่ตกลงสู่หลุมดำมวลยวดยิ่ง

นักดาราศาสตร์เชื่อว่าการมองเห็นที่แจ่มชัดของกล้องฮับเบิล จะช่วยคลี่คลายแหล่งกำเนิดแสงต่างๆที่แกนกลางของกาแล็กซี NGC 5495 และนั่นจะทำให้สามารถชั่งน้ำหนักหลุมดำมวลยวดยิ่งได้อย่างแม่นยำ.

(ภาพประกอบ Credit : ESA/Hubble & NASA, J.Greene; CC BY 4.0 Acknowledgement: R.Colombari)